Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : ส่องพื้นฐานธุรกิจ PTG - NER บนวิกฤติ COVID-19

4,320

HotNews : ส่องพื้นฐานธุรกิจ PTG - NER  บนวิกฤติ COVID-19

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ ( 16 มีนาคม 2563 ) ท่ามกลางความกังวลการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในประเทศต่างๆ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อฯ เร่งตัวมากขึ้นทะลุ 100 คนแล้ว  แน่นอนเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือธุรกิจสายการบิน ท่องเที่ยวและโรงแรม แล้วภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ล่ะเป็นอย่างไร วันนี้ทีมข่าวหุ้นอินไซด์จะตามไปส่องพื้นฐาน 2 กลุ่มอุตสาหกรรมคือ กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร และกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ว่าได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน และจะมีมาตรการตั้งรับเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างไร ................

 

 

 

 

 

 


เริ่มจากบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร ระบุว่าผลกระทบไวรัสโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯมากนักเนื่องจากการใช้รถยนต์ในกรุงเทพมหานครยังคงหนาแน่นอยู่หลังปัจจุบันประชาชนลดปริมาณการเดินทางตามรถโดยสารมากขึ้น โดยสองเดือนแรก(มกราคม-กุมภาพันธ์)ที่ผ่านมาบริษัทฯมีปริมาณขายเติบโต 12-13% ถึงแม้จะจะต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ 15% แต่เชื่อว่าภาพรวมของครึ่งปีแรกจะยังคงเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10%

 

 


นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2562 บริษัทได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสถานีบริการน้ำมันที่มียอดขายเป็นอันดับ 2 ของประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยบริษัทมีปริมาณการขายในธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 4,681 ล้านลิตร เติบโต 19.40% จากปีก่อน ที่มีปริมาณการขายในธุรกิจน้ำมันอยู่ที่ 3,921 ล้านลิตร เนื่องจากการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทมีการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการ คิดเป็นสัดส่วน 93.70% ของปริมาณการขายทั้งหมด

 

 

“ในปี 2562 ที่ผ่านมานับเป็นอีกปีที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่งผลให้เราก้าวขึ้นเป็นผู้นำสถานีบริการน้ำมันที่มียอดขายเป็นอันดับ 2 ของประเทศได้ และในปีนี้เราก็ได้วางรากฐานให้พีทีจีก้าวขึ้นไปเป็นมากกว่าธุรกิจพลังงาน และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าในปี 2563 ที่เรากำลังก้าวสู่ปีที่ 33 นี้ จะเป็นปีที่น่าจับตามองอีกปีเพราะพีทีจีไม่หยุดส่งมอบคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า” นายพิทักษ์ กล่าว

 

 

 

 

 


ด้านนายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าปริมาณการขายปี 2563 เติบโต 15-20% แตะที่ระดับ 5,400 - 5,500 ล้านลิตร จากปีก่อนทำได้ 4,700 ล้านลิตร และมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย(EBITDA)เติบโตในทิศทางเดียวกับปริมาณการขาย จากปีก่อนอยู่ที่ 5,269 ล้านบาท เนื่องจาก เป็นไปตามการขยายสาขาทั้งธุรกิจน้ำมัน(Oil) และธุรกิจ Non-oil อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าการตลาดปรับตัวดีขึ้นโดย 2 เดือนแรกที่ผ่านมาค่าการตลาดอยู่ที่ 1.6-1.7 บาทต่อลิตร

 

 


สำหรับงบลงทุนปีนี้บริษัทฯวางไว้ที่ 4,500-5,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นใช้สำหรับลงทุนในการขยายและปรับปรุงธุรกิจน้ำมัน 3,900 ล้านบาท ธุรกิจ Non-oil 600 ล้านบาท ธุรกิจLPG 400 ล้านบาท และธุรกิจใหม่ 500 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นเป็นธุรกิจเอทานอล โดยบริษัทฯจะพิจารณาการลงทุนให้ใกล้เคียงกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานแต่อย่างไรก็ตามต้องดูภาพรวมผลกระทบจากสถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะทำให้บริษัทฯต้องปรับงบลงทุนใหม่เหลือ 4,000 ล้านบาท

 

 


ทั้งนี้บริษัทฯมีแผนขยายจุดให้บริการน้ำมัน 150-200 จุด จากปีก่อนอยูที่ 2,024 จุด และขยายสาขาLPG 60-70จุดของภาคครัวเรือน ถึงแม้ปัจจุบันธุรกิจLPGภาคครัวเรือนจะยังไม่เปิดตัวให้บริการอย่างเป็นทางการแต่ปัจจุบันบริษัทฯก็มียอดขายเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งปีนี้บริษัทฯคาดว่ายอดขายจากธุรกิจLPGจะเติบโตที่ระดับ 35-40% หรือทำได้ 110,000 ตัน โดยมาจากภาคครัวเรือน 10% และมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ 90%

 

 

 

 

 


ขณะที่สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า PTG สามารถไต่อันดับสร้างส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันต่อเนื่องจากอันดับ 4 ในปี 2017 สู่อันดับ 2 ในปีที่ผ่านมา ด้วยปริมาณขายที่เติบโตเฉลี่ย 18% ต่อปีสูงกว่าอุตสาหกรรมที่ 5% เท่านั้น นอกจากนี้ ในสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และค่าการตลาดในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ 1.8 บาทต่อลิตรเป็นผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน รวมทั้ง ธุรกิจ Non-oil ที่เริ่มเก็บเกี่ยวจากการลงทุนที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปาล์มคอมเพล็กซ์จากความต้องการที่สอดคล้องกับปริมาณผลิตที่มากขึ้นจากการส่งเสริมของภาครัฐ ดังนั้น เรามองว่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีสำหรับ PTG ดังนั้น เรายังคงแนะนำ "ซื้อ"

 



ปริมาณขายน้ำมันในเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมายังคงเติบโต 13% YoY ตามกรอบเป้าหมายของบริษัทที่ตั้งเป้าหมายการเติบโต 10-15% อย่างไรก็ตาม เราปรับสมมติฐานปริมาณขายน้ำมันในปี 2020F โดยคาดเติบโต 9% YoY ลดลงจากเดิมที่คาด 13% YoY มาอยู่ที่ 5,083 ล้านลิตร เพื่อสะท้อน 1) การระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเราคาดจะมีผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมันจากการเดินทางที่ลดลงในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ในภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วน 33% ของช่องทางจำหน่ายทั้งหมด และ 2) จากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เรามองว่าปริมาณขายน้ำมันของบริษัทยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ภาวะภัยแล้งจากสถานีบริการน้ำมันกว่า 50% อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง

 

 

 



ค่าการตลาดน้ำมันโดยรวมยังคงในระดับบริหารจัดการได้ จากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลงมาจากสงครามราคา เรามองว่ามีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันที่ล่าสุดปรับตัวลง 0.60 บาทต่อลิตร แต่ไม่ได้ส่งผลต่อค่าการตลาดน้ำมัน จากปัจจุบันค่าการตลาดยังคงอยู่ในระดับ 1.80 - 2.0 บาทต่อลิตร ต่อเนื่องจากเดือนม.ค. - ก.พ. รวมทั้งมาตรการจูงใจผู้ประกอบการของภาครัฐในการจำหน่ายน้ำมัน B10 ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมัน B10 อยู่ในระดับสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นผลดีต่อ PTG จากกว่า 70% ของน้ำมันที่จำหน่ายเป็นกลุ่มดีเซล และโดยในแง่กำไรของบริษัท ค่าการตลาดน้ำมันมีผลมากกว่าราคาขายน้ำมัน

 



ยังคงแนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 18.40 บาทปรับประมาณการผลประกอบการของ PTG ลงเล็กน้อย สะท้อน 1) คาดปริมาณขายน้ำมันโต 9% YoY มาที่ 5,083 ล้านลิตร 2) คาดค่าการตลาดน้ำมัน 1.80 บาทต่อลิตร และ 3) สะท้อนการใช้มาตรฐานบัญชี TFRS16 ซึ่งประเมินผลกระทบต่อกำไร 156 ล้านบาท จากการปรับประมาณการผลประกอบการ ราคาเป้าหมายใหม่ของเราอยู่ที่ 18.40 บาท จากเดิม 20.30 บาท (PER 20 เท่าปี 2020F) โดยเรายังคงแนะนำ "ซื้อ" ปัจจัยเสี่ยงสำหรับ PTG ได้แก่ 1) ค่าการตลาดที่อ่อนตัวกว่าที่เราคาดไว้ 2) ปริมาณขายน้ำมันที่ต่ำกว่าคาด และความล่าช้าของธุรกิจ non-oil 3) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีที่สูงกว่าคาด

 

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ออกบทวิเคราะห์ หุ้นแนะนำ PTG (พื้นฐาน 19.00 บ.) เป็นหุ้นในกลุ่มค้าปลีกน้ำมันที่ได้รับประโยชน์จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้นมันในประเทศ อีกทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสกระตุ้นให้มีการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

 

 

------------------------------

 

 

 

 

 

 

สำหรับบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และยังมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีความกังวลและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งมากกว่า ชี้หากภัยแล้งหนักมากบริษัทอาจต้องทบทวนแผนธุรกิจอีกครั้ง

 

 

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าปริมาณขายรวมปี 2563 แตะที่ระดับ 409,176 ตัน โดยเป็นปริมาณขายในประเทศ 245,505 ตัน หรือคิดเป็น 60% และปริมาณขายต่างประเทศ 163,671 ตัน หรือคิดเป็น 40% ของปริมาณขายรวม ซึ่งเติบโตจากปีก่อนที่มีปริมาณขายอยู่ที่ 280,117 ตัน เนื่องจาก โรงงานผลิตแห่งใหม่จะมีการเริ่มเดินเครื่องทดสอบตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมนี้เป็นต้นไปและผลิตจริงภายในไตรมาส2/2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตเพิ่มอีก 172,800 ตันต่อปี เป็น 465,600 ตันต่อปี จากเดิมมีกำลังการผลิต 292,800 ตันต่อปี

 

 

 

 

ขณะที่ บริษัทฯยังคงมั่นใจว่าผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2563 จะยังคงเติบโตได้ดี แม้จะมีสถานการณ์โควิค-19 เข้ามาแต่บริษัทฯไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยยอดขายที่ได้มีการทำสัญญากับลูกค้ายังคงเป็นไปตามแผน ยังไม่มีลูกค้ารายใดยกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งบริษัทฯมียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าของไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 5,934 ล้านบาท

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทฯยังคงเป็นกังวลมากกว่าคือสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งจะทำให้บริษัทฯสามารถผลิตยางไม่ได้ตามเป้า แต่ทั้งนี้บริษัทฯจะมีการประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวหลังเดือนเมษายนนี้อีกครั้ง

 

 

"โควิด-19 กระทบต่อเราน้อยตอนนี้ยังไม่มีลูกค้ารายใดยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้าเรา และแต่ละรายเป็นเจ้าใหญ่ทั้งนั้น แต่สิ่งที่เรากังวลจริงๆคือซัพลลายจากวัตถุดิบที่เกิดจาภัยแล้งมากกว่า ปัจจุบันไทยได้ประกาศเข้าสูภาวะภัยแล้งแล้วและตอนนี้สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ถ้าแล้งไม่กระทบมากเรายืนยันว่าจะยังคงเป้าหมายแบบเดิม แต่ถ้ามีผลกระทบจริงเรามองว่าจะเป็นครึ่งปีหลังมากกว่า ซึ่งจะกระทบต่อผลผลิตของบริษัทฯซึ่งจะหายไปถึง 15-20% แต่มีข้อดีคือราคาจะปรับตัวสูงขึ้น " นายชูวิทย์ กล่าว

 

 

 

 

 

พร้อมกันนี้บริษัทฯยังมีการพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแผ่นรองนอนสำหรับสัตว์ และใช้กับวัวนมโดยเฉพาะ โดยคาดว่าจะผลิตและจำหน่ายได้ภายในไตรมาส3/2563 ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯจะเป็นการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย และ นิวซแลนด์ โดยในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ที่ 25-30 ล้านบาท และขายแบบเต็มที่ช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565 เป็นต้นไป

 

 

นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการ เพิ่มทุนจดทะเบียนแบบมอบอำนาจทั่วไป จำนวน 154,000,000 หุ้น ซึ่งเป็นการขอมติบอร์ดไว้ก่อน เพื่อรองรับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาถือหุ้นบริษัทฯ โดยก่อนหน้านี้มีคู้ค้าเข้ามาเจรจากับบริษัทฯประมาณ 2-3 ราย แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้กำหนดว่าจะจัดสรรอย่างไร

 

 

บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด เปิดเผยว่า มีมุมมองที่เป็นบวกต่อผลประกอบการในปี 2563 ของNER เนื่องจากจะมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากโรงงานใหม่แห่งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดใช้ปลายเดือนมีนาคม และสามารถที่จะรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ได้ทันที โรงงานแห่งใหม่ จะเข้ามาช่วยหนุนกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 170,000 ตัน/ปี รองรับคำสั่งซื้อที่จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ทำให้กำลังการผลิตรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 460,000 ตัน/ปี

 

 

 

 


สำหรับโรงงานใหม่ปีนี้บริษัทตั้งเป้าการผลิตที่ร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตรวม โดยมีคำสั่งซื้อจากลูกค้า สัญญา Long Term แล้วกว่าร้อยละ 40 ด้านสถานการณ์ COVID-19 บริษัทฯมียอดขายที่พึ่งพิงการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 โดยเป็นลูกค้าจีนร้อยละ 75 โดยสินค้าจะส่งไปที่โรงงานในชิงเต่า มณฑลซานตง ซึ่งห่างจากอู่ฮั่นราว 700 กิโลเมตร ดังนั้นปัญหาช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้น จึงเป็นเพียงการชะลอการส่งสินค้า เนื่องจากมีการหยุดทำงานของโรงงานและธนาคารราว 2 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบัน capacity โรงงานต่างๆได้เริ่มกลับมาดำเนินแล้วร้อยละ 80 ดังนั้นสินค้าในช่วงที่จะต้องส่งในเดือนกุมภาพันธ์ จะเลื่อนไปส่งในเดือนมีนาคม ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่องบในไตรมาสที่ 1

 

บทวิเคราะห์ระบุว่า เรามองว่า รายได้สำหรับปี 2563 เท่ากับ 20,853.25 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 60.3 YoY โดยต้นทุนขายขยายอยู่ที่ 18,976.46 เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.7 ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขาย เนื่องมาจากมองว่า การมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทสามารถที่จะผลิตสินค้าได้เองตามคำสั่งซื้อของลูกค้าไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปเพื่อขาย ส่งผลให้ อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9 จากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.6 ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ 767.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 75.9 และค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ 333.1 ล้านบาท ปรับตัวขึ้นร้อยละ 50 เนื่องจาก มองว่ากำลังการผลิตที่เพิ่มบริษัทจำเป็นจะต้องใช้สินทรัพย์หมุนเวียนในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อซื้อวัตถุดิบรองรับคำสั่งซื้อของลูกค้า จำเป็นที่จะต้องมีการกู้เงินระยะสั้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทั้งปีเราประเมินกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 805.53 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 49.5 YoY เติบโตโดดเด่น

 

 

 


"แนะนำ "ซื้อ" NER โดย NER มีราคาเป้าหมาย 2.90 บาท ด้วยวิธี Gordon Growth Model คิดเป็น PER 7.3 เท่า ของผลการดำเนินงานปี 2563 ทั้งนี้ NER จะขึ้นเครื่องหมาย XD และ XR วันที่ 29 เม.ย 63 ณ ราคาปัจจุบัน คิดเป็น Div. Yield 6.2% และราคาเป้าหมายได้รวมผลของ Price Dilution ไว้ในประมาณการแล้ว เนื่องจากแม้ว่าจะมีการกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิครั้งแรกในช่วงกลางเดือนธันวาคม ปี 2563 แต่ตลาดจะมีการตอบสนองราคาล่วงหน้า"บทวิเคราะห์ระบุ

 


ปัจจัยเสี่ยง
- ความผันผวนของราคายางพาราในตลาดโลก
- การไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับลูกค้าบางราย และความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าไม่ปฏิบัติตามสัญญา
- การเปลี่ยนแปลงในนโยบายของภาครัฐ
- ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ออมแรง ออกแรง By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง ยามนี้ ต้อง ออมแรง ออกแรง พลิกแพลงตามสถานการณ์ ด้วยการเมืองในประเทศ มีหลายกระแส ทั้งปรับครม.....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้