Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: BAM พร้อมเทรด 16 ธ.ค.62 อวดกำไร 9 เดือนพุ่ง 47.5 %

2,522

HotNews: BAM พร้อมเทรด 16 ธ.ค.62

อวดกำไร 9 เดือนพุ่ง 47.5 % 

 

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (13 ธันวาคม 2562) ------ BAM พร้อมเทรดวันแรก 16 ธ.ค. นี้ มั่นใจหลังเข้าตลาดฯ ศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น ตอบสนองภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่โชว์งบ 9 เดือน ปี 62 สุดหรู มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4%-กำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.5 % จากงวดเดียวกันของปี 61

 

บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ยืนยันถึงความพร้อมในการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมจากประชาชนและนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ โดยได้กำหนดราคาขายสุดท้ายที่ 17.50 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดจากช่วงราคาเสนอขายที่ 15.50-17.50 บาท ผู้บริหารเตรียมยกทีมเดินหน้านำหุ้นเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก หรือ 1st Trading Day ในวันจันทร์ที่ 16 ธันวาคมนี้

 

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความมั่นใจในการระดมทุนผ่านหุ้น BAM ในครั้งนี้ว่า “การเข้าจดทะเบียนพร้อมทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (1st Trading Day) ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ เป็นก้าวแห่งความสำเร็จที่บุคคลากรของ BAM ทุกคนภาคภูมิใจ เพราะจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน เพิ่มแหล่งเงินทุนที่หลากหลายสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต และลดภาระหนี้ของบริษัทฯ ตลอดจนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน”

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นโอกาสสำหรับประชาชนและนักลงทุนที่สนใจสามารถเป็นเจ้าของบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีเครือข่ายสาขาและสำนักงานมากที่สุดครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค พร้อมศักยภาพในการสร้างโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจและการเติบโตจาก NPLs และ NPAs ในระบบธนาคารที่เติบโตอย่างต่อเนื่องสำหรับผลการดําเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2562 BAM มีรายได้รวม 9,206 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.4% จากงวดเดียวกันของปี 2561 และมีกำไรสุทธิ 4,882 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.5 % จากงวดเดียวกันของปี 2561


นางทองอุไร กล่าวถึงความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนของ BAM ว่า “การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ BAM เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ตอบสนองต่อสถานการณ์และสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการศึกษาถึงผลกระทบทางภาษี และมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ (TFRS 9) และได้เตรียมความพร้อมในการรับมือถึงปัจจัยดังกล่าว โดยยังมั่นใจถึงผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้จากกระแสเงินสดของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและมั่นคง เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ BAM ยังคงเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และทรัพย์สินรอการขายจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อช่วยสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กลับมาเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดย นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ จนถึง 30 กันยายน 2562 BAM สามารถปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ NPLs ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 90,000 ล้านบาท” นางทองอุไรกล่าว

ขณะที่ตามแผนการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป (IPO) ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ("BAM") กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ("กองทุนฟื้นฟูฯ") จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญที่ตนถืออยู่ใน BAM โดยคาดว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือร้อยละ 45.6 (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ ทั้งจำนวน) ถึงร้อยละ 49.1 (กรณีผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินไม่มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากบริษัทฯ) โดยกองทุนฟื้นฟูฯ จะถือหุ้นทั้งหมดดังกล่าวต่อไปไม่ต่ำกว่าระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ตามข้อจำกัดห้ามขาย (Silent Period) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกองทุนฟื้นฟูฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของ BAM และยังไม่มีนโยบายที่จะขายหุ้น BAM เพิ่มเติม

ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ จะยังคงสนับสนุน BAM ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และคาดหวังเงินปันผลจาก BAM เหมือนกับผู้ถือหุ้นรายอื่นต่อไป นอกจากนี้ ด้วยขนาดของสินทรัพย์ ประสิทธิภาพและศักยภาพในการประกอบธุรกิจ BAM จะยังคงเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เป็นกลไกสำคัญแห่งหนึ่งในระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ หรือโอกาสที่อาจเกิดวิกฤติทางการเงินในอนาคต จากผลการดำเนินงานของ BAM ในอดีตที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ เชื่อมั่นในฐานะการเงินและความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจของ BAM ต่อไปในอนาคต

ที่ผ่านมา BAM ได้ดำเนินธุรกิจโดยอาศัยศักยภาพในการแข่งขันเหมือนธุรกิจบริหารสินทรัพย์ทั่วไป การขายหุ้นสามัญของกองทุนฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐในการลดภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ และสนับสนุน ให้ BAM มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน มีความคล่องตัว โปร่งใส มีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และมีธรรมาภิบาลที่ดี

BAM ตอกย้ำความมั่นใจในความแข็งแกร่งของธุรกิจในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เงินกู้ยืมธนาคาร และหุ้นกู้ เป็นต้น และพื้นฐานการดำเนินธุรกิจของ BAM ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบัน BAM มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทั้งสิ้น 11 แห่ง ซึ่ง BAM ล้วนมีสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งโครงสร้างธุรกิจที่ยืดหยุ่นซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจและสามารถเป็นกลไกในการดูดซับ NPL และ NPA จากสถาบันการเงินไทย

อีกทั้ง กองทุนฟื้นฟูฯ และ BAM เชื่อว่า BAM จะได้รับประโยชน์จากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ซึ่งรวมถึงจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ที่มีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ BAM ในระยะยาว

นักลงทุนที่สนใจ โปรดติดตามการเข้าจดทะเบียนพร้อมทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (1st Trading Day) ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 นี้ และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนในการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทที่เว็ปไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.bam.co.th และที่ www.set.or.th หรือติดต่อโทรศัพท์หมายเลข 02 630 0700

 

ตลท. BAMเริ่มซื้อขาย 16 ธ.ค. นี้

บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 16 ธ.ค. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 52,762.50 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ ว่า "BAM"
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "BAM" ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562
BAM จัดตั้งขึ้นในปี 2542 ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2540 และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมการบริหารจัดการ NPLs และ NPAs ที่ได้มาจากสถาบันการเงินอื่น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 20 ปี จึงทำให้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ ที่สุด และมีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
BAM มีทุนชำระแล้ว 15,075 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5.00 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวนรวม 1,765 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1,255 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเพิ่มทุน 280 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกิน 230 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลทั่วไป ในวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2562 และผู้ลงทุนสถาบัน ในวันที่ 3-4 และ 6 ธันวาคม 2562 ในราคาหุ้นละ 17.50 บาท ทั้งนี้หากไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวน 230 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 26,862.50 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าระดมทุนของบริษัท 4,900 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 52,762.50 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย


นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า BAM เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสริมศักยภาพทางการเงินในการขยายธุรกิจโดยซื้อ NPLs และ NPAs มาบริหารในอนาคต และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานให้เทียบเท่าบริษัทเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้ BAM คงความเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ


BAM มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถือหุ้น 41.46% 2) บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (ผู้จัดจำหน่ายหุ้นในต่างประเทศ) 10.69% และ 3) กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 1.53% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากวิธีการสำรวจปริมาณความต้องการซื้อหุ้นสามัญของผู้ลงทุนสถาบันในแต่ละระดับราคา (Book building) คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (P/BV) ที่ 1.73 เท่า (อัตราส่วนดังกล่าวคำนวณภายหลังการจ่ายปันผลระหว่างกาลจากงบการเงินงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 62) ทั้งนี้ BAM มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้ตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
ผู้ลงทุนและผู้สนใจ โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.bam.co.th และที่ www.set.or.th


---จบ---

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ได้เวลาซื้อหุ้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็นหุ้นตก หุ้นร่วง ณ จุด นี้ ด้วยข่าวอิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการโจมตีอิหร่าน.. ขอมองต่าง

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้