Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : กูรูส่อง SET ครึ่งเดือนหลังมีลุ้นรีบาวด์ BANK - PROP เด่นสุด

1,936

HotNews : กูรูส่อง SET ครึ่งเดือนหลังมีลุ้นรีบาวด์ BANK - PROP เด่นสุด

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (16 สิงหาคม 2562) กูรูทิสโก้ เปิดกลยุทธ์  SET Index บริเวณ 1600 ลงมาน่าทยอยเสี่ยงซื้อเก็งกำไรรอบสั้นๆ มองครึ่งเดือนหลังมีโอกาสรีบาวด์ทางเทคนิค    แจกธีมหุ้นเทรดดิ้งระยะสั้น  BANK และ PROP เด่นสุด แนะนำ KBANK, SCB / ANAN, ORI, SPALI 

 

บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ ออกบทวิเคราะห์เปิดเผยว่า GDP ไตรมาส 2/2019F ที่จะประกาศในวันที่ 19 ส.ค. นี้ เราคาดว่าจะโตเพียง 2.5% ต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง และเรามองเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มโตต่ำกว่า 3% (เราคาดที่ 2.9% vs. ตลาดคาดการณ์เฉลี่ยปัจจุบันยังอยู่ที่ 3.3%) จากปัจจัยกดดันต่างๆ อาทิ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ตึงเครียดมากขึ้น (ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 10% ในรายการสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่ม 1 ก.ย. นี้), ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี FY2020 เป็นต้นปีหน้า (ซึ่งกระทบต่อเม็ดเงินงบลงทุนในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2019), ปัญหาภัยแล้ง (ซึ่งกระทบกำลังซื้อของภาคครัวเรือน) และการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว (ส่วนหนึ่งจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศ)

 

 

ด้านงบไตรมาส 2/2019 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค.) โดยรวมมีกำไรสุทธิ 2.17 แสนล้านบาท ลดลง -23% YoY และ -18% QoQ และหากเทียบกับประมาณการของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) ต่ำกว่าคาด 2% ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดโดยรวมในปี 2019-20F มีแนวโน้มถูกปรับลงอีก โดยนับจากต้นปีนี้ (YTD) EPS ของตลาดถูกปรับลงมาแล้ว -11.9% และ -9.8% มาอยู่ที่ 101.4 บาท และ 112.6 บาท ตามลำดับ

 

 

ท่ามกลางการเกิดสถานการณ์ “Inverted Yield Curve” ซึ่งในอดีตมักเป็นสัญญาณเตือนที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจภายในช่วง 2 ปีข้างหน้า เราแนะติดตาม 3 เหตุการณ์สำคัญในช่วงครึ่งเดือนหลังที่อาจช่วยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ (1) วันที่ 22-24 ส.ค. - การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง เราเชื่อว่าจะเห็นแนวทางหรือการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศมากขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก (2) วันที่ 24-26 ส.ค. - การประชุม G7 อาจมีการหารือกันในประเด็นการค้าที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงปลายเดือนนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนหน้าด้วย (3) วันที่ 28-30 ส.ค. - การจัดงาน Thailand Focus 2019 อิงจากการศึกษาข้อมูลในอดีต SET Index มักตอบสนองเชิงบวกดีที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์หลังการจัดงาน โดยมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 67% ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ +1.3%

 

 

หลังจากที่เราแนะนำ “Wait&See” เป็นกลยุทธ์หลักตั้งแต่ SET Index หลุดระดับ 1715 จุดในช่วงสิ้นเดือนที่แล้ว นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เรามอง SET Index ที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1600 จุดลงมา น่าทยอยเสี่ยงซื้อเก็งกำไรรอบสั้น มองครึ่งเดือนหลังมีโอกาสรีบาวด์ทางเทคนิค เล็งเป้า SET Index ที่บริเวณ 1630-50 จุด โดยเรามองธีมหุ้นเทรดดิ้งระยะสั้นดังต่อไปนี้ (1) หุ้นพื้นฐานที่ราคาปรับตัวลงเร็วมากในเดือนนี้จนการประเมินมูลค่าอยู่ในระดับต่ำมากในรอบหลายปี น่าจะซึมซับปัจจัยลบไปมากแล้ว มีลุ้นดีดกลับ BANK และ PROP เด่นสุด แนะนำ KBANK, SCB / ANAN, ORI, SPALI ตามลำดับ (2) หุ้นงบดีกว่าตลาดคาด มีโอกาสปรับประมาณการกำไรขึ้น – CPF, EKH, HANA, TFG, TPIPP (3) หุ้นรับมาตรการรัฐกระตุ้นบริโภคฐานราก – CPALL, BJC / AEONTS, KTC, MTC (4) หุ้นรับประโยชน์จากงาน Thailand Focus – BANK ชอบ KBANK, SCB / COMM ชอบ BJC, MEGA / OTHERS ชอบ MAJOR, PLANB, BCH, DIF นอกจากนี้ เรายังคงชอบหุ้น 3 กลุ่มที่พิสูจน์แล้วว่า “Outperform” จากสงครามการค้ารอบก่อน (1) TRANS – ชอบ BEM, BTS (2) HELTH – BDMS, EKH (3) COMM – BJC, CPALL ผสานหุ้นเชิงรับปันผลดี - EASTW, EGCO, MAJOR, RATCH, ROJNA, TPIPP รวมทั้งหุ้นใน PF&REIT&IFF - QHPF, CPNREIT, WHART, EGATIF, JASIF, DIF, TFFIF

 

 

GDP ไตรมาส 2/2019F (19 ส.ค.) คาดโต 2.5% ต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง, เรามองเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มโตต่ำกว่า 3% (vs. ตลาดคาดการณ์เฉลี่ย 3.3%) เครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ กำลังบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงจากช่วงไตรมาสแรกของปี โดย GDP อย่างเป็นทางการของ 2Q19 ที่จะประกาศในวันที่ 19 ส.ค. เราคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากระดับ 2.8% ใน 1Q19 มาอยู่ที่ 2.5% ใน 2Q19F และทำให้ GDP ใน 1H19F โต 2.7% จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงในวงกว้างทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) มีการปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2019F ลงมาอยู่ที่ 2.9% จากคาดการณ์เดิมในเดือน ก.พ. ที่ 3.5% เพื่อสะท้อนถึงเครื่องชี้เศรษฐกิจที่แย่กว่าคาดในช่วงครึ่งแรกของปี และโมเมนตัมที่น่าจะอ่อนแอลงในครึ่งหลัง จากปัจจัยกดดันต่างๆ อาทิ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ตึงเครียดมากขึ้น (ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศจะจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 10% ในรายการสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่ม 1 ก.ย. นี้), ความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี FY2020 เป็นต้นปีหน้า (ซึ่งกระทบต่อเม็ดเงินงบลงทุนในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2019), ปัญหาภัยแล้ง (ซึ่งกระทบกำลังซื้อของภาคครัวเรือน) และการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว (ส่วนหนึ่งจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงกระทบต่อนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศ) โดยในปี 2019F เราคาดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.6% และ 2.0% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าแทบจะไม่ขยายตัว ในขณะที่การส่งออกอาจหดตัวราว 2.5%

 

 

ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในกรณีฐาน (baseline) เรามองว่า ธปท. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ไปจนสิ้นปี 2019F เนื่องจาก ธปท. มี “policy space” ที่จำกัด เพราะระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่สูงกว่าระดับที่เคยต่ำสุดที่ระดับ 1.25% ในปี 2009 (ช่วงวิกฤตซับไพร์ม) เพียง 0.25% เท่านั้น และเศรษฐกิจไทยในปีดังกล่าวหดตัว 0.7% ทำให้เรามองว่า ธปท. อาจเลือกเก็บกระสุนในการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อใช้ในยามจำเป็น

 

 

***บจ.ไทยมีกำไรสุทธิ 2Q19 โดยรวมลดลงมากทั้ง YoY และ QoQ, และต่ำกว่าคาด 2%***

 


จากการรวบรวมผลประกอบการไตรมาส 2/2019 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค.) จำนวน 597 บริษัท จากจำนวนบริษัททั้งหมด 617 บริษัท (นับเฉพาะตลาด SET ไม่รวมตลาด mai) หรือคิดเป็นสัดส่วน 96% มีกำไรสุทธิรวม 2.17 แสนล้านบาท ลดลง -23% YoY และ -18% QoQ ขณะที่กำไรสุทธิ 6M19 รวมอยู่ที่ 4.85 แสนล้านบาท ลดลง -16% YoY ผลจากกำไรในกลุ่ม ENERG, ICT, PROP และ CONMAT ลดลงมากทั้ง YoY และ QoQ ขณะที่กำไรกลุ่ม BANK และ COMM ถือว่าลดลงเล็กน้อย การลดลงของกำไรในไตรมาสนี้หลัก ๆ เนื่องจากบริษัทหลายแห่งมีการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ และไม่มีรายการพิเศษ เช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์เช่นเดียวกับช่วงเวลาเดียวกันของไตรมาสก่อน

 

 

หากเปรียบเทียบกำไรสุทธิ 2Q19 ที่ประกาศกับประมาณการของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) จำนวน 170 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 1.92 แสนล้านบาท ต่ำกว่าตลาดคาดราว 2% โดยแบ่งเป็น 57 บริษัทมีงบดีกว่าคาด (% Surprise >= +5%) : 32 บริษัทมีงบตามคาด (% Surprise +/- 5%) : 81 บริษัทมีงบแย่กว่าคาด (% Surprise <= -5%) หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% : 19% : 48% ตามลำดับ

 

 

เศรษฐกิจชะลอ + แบงก์ลดดอกเบี้ย + ราคาน้ำมันกลับมาผันผวน = ประมาณการกำไรตลาดมีโอกาสปรับลงอีก ด้วยงบ 2Q19 ส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาด และกำไร 6M19 คิดเป็นสัดส่วนของประมาณการกำไรปีนี้ 46% ประกอบกับเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาดทั้งจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยืดเยื้อและความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี FY2020, การลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ของกลุ่มธนาคารล่าสุด และราคาน้ำมันที่กลับมาผันผวน น่าจะทำให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดโดยรวมในปี 2019-20F มีแนวโน้มถูกปรับลงอีก โดยนับจากต้นปีนี้ (YTD) EPS ของตลาดถูกปรับลงมาแล้ว -11.9% และ -9.8% มาอยู่ที่ 101.4 บาท และ 112.6 บาท ตามลำดับ

 

 

 

***สหรัฐฯ เลื่อนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจีนบางส่วนเป็น 15 ธ.ค. อาจเป็นปัจจัยบวกแค่ชั่วคราว***

 

สหรัฐฯ ประกาศชะลอการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่ 10% สำหรับสินค้าบางรายการ รวมมูลค่าราว 1.56 แสนล้านดอลลาร์ฯ ออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. ซึ่งโดยมากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เครื่องเล่นเกมส์ และของเล่นบางอย่าง ขณะที่สินค้ากลุ่มที่เหลือ ประมาณ 1.04 แสนล้านดอลลาร์ฯ จะยังคงถูกปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่ 10% ในวันที่ 1 ก.ย. ตามกำหนดการเดิม ซึ่งสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร ของสะสมโบราณ เสื้อผ้าและรองเท้า และเครื่องครัว เป็นต้น เรามองการชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนหลายรายการอาจเป็นปัจจัยบวกแค่ชั่วคราวหลังตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงแรงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันจะเป็นการเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจในการวางแผนการผลิตสินค้าและการจ้างงาน รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2020 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาการค้าในระยะข้างหน้าว่าจะความคืบหน้าหรือไม่ โดยทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะโทรศัพท์คุยกันอีกครั้งในในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ ก่อนที่จะพบปะกันที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ในเดือนต้นเดือน ก.ย.

 

 

อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่าการตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้จีนเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการถ่ายโอนความรู้ของบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจในจีน (Technology Transfer) และการให้เงินอุดหนุนในบางอุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนนั้นยังเป็นประเด็นขัดแย้งที่สำคัญในการเจรจา ทำให้เรามองสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยืดเยื้อต่อไป

 

 

 


***3 เหตุการณ์น่าติดตามในช่วงครึ่งเดือนหลัง ท่ามกลางสถานการณ์ “Inverted Yield Curve”***

 


สินทรัพย์เสี่ยงทั้งหุ้น-น้ำมัน-โภคภัณฑ์แม้ขณะนี้จะเผชิญแรงเทขายอย่างหนัก หลังเกิดสถานการณ์ “Inverted Yield Curve” ในตลาดพันธบัตรของสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งในอดีตมักเป็นสัญญาณเตือนที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจภายในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่เรามอง 3 เหตุการณ์หลักที่น่าติดตาม อาจช่วยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวในช่วงครึ่งเดือนหลังได้ คือ

 


1) วันที่ 22-24 ส.ค. - การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง หัวข้อการประชุมในปีนี้ คือ "Challenges for Monetary Policy" ซึ่งจะมีผู้ว่าการธนาคาร รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย เราเชื่อว่าจะเห็นแนวทางหรือการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศมากขึ้นท่ามกลางการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

2) วันที่ 24-26 ส.ค. - การประชุม G7 อาจมีการหารือกันในประเด็นการค้าที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย นอกจากนี้ต้องติดตามความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในช่วงปลายเดือนนี้ต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนหน้าด้วย


3) วันที่ 28-30 ส.ค. - การจัดงาน Thailand Focus 2019 โดยในปีนี้มี 111 บริษัทเข้าร่วมงานดังกล่าว อิงจากการศึกษาข้อมูลในอดีต SET Index มักตอบสนองเชิงบวกดีที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์หลังการจัดงาน โดยมีโอกาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกราว 67% ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ +1.3%

 

 

 

***SET Index ที่บริเวณ 1600 ลงมา น่าทยอยเสี่ยงซื้อเก็งกำไรรอบสั้นๆ มองครึ่งเดือนหลังมีโอกาสรีบาวด์ทางเทคนิค***

 

 

หลังจากที่เราแนะนำ “Wait&See” เป็นกลยุทธ์หลักตั้งแต่ SET Index หลุดระดับ 1715 จุดในช่วงสิ้นเดือนที่แล้ว แม้ทิศทางตลาดในระยะสั้นยังมีความผันผวนสูง แต่สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เรามอง SET Index ที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1600 จุดลงมา (คิดเป็น Fwd. PER ปี 2020F ที่ 14.5x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 15.3x ถึงแม้จะคำนึงถึงแนวโน้มประมาณการกำไรของตลาดถูกปรับลงอีกประมาณ 2-3% แล้วก็ตาม และความน่าสนใจของ Earning Yield Gap ปีนี้ที่สูงกว่าระดับ 4.5% และปีหน้าสูงกว่าระดับ 5%) น่าทยอยเสี่ยงซื้อเก็งกำไรรอบสั้นๆ มองครึ่งเดือนหลังมีโอกาสรีบาวด์ทางเทคนิคสูง เล็งเป้า SET Index ที่บริเวณ 1630-50 จุด

 

 

โดยเรามองธีมหุ้นเทรดดิ้งระยะสั้นดังต่อไปนี้

(1) หุ้นพื้นฐานที่ราคาปรับตัวลงเร็วมากในเดือนนี้จนการประเมินมูลค่าอยู่ในระดับต่ำมากในรอบหลายปี น่าจะซึมซับปัจจัยลบไปมากแล้ว มีลุ้นดีดกลับ BANK และ PROP เด่นสุด แนะนำ KBANK, SCB / ANAN, ORI, SPALI ตามลำดับ

(2) หุ้นงบดีกว่าตลาดคาด มีโอกาสปรับประมาณการกำไรขึ้น – CPF, EKH, HANA, TFG, TPIPP (3) หุ้นรับมาตรการรัฐกระตุ้นบริโภคฐานราก – CPALL, BJC / AEONTS, KTC, MTC (4) หุ้นรับประโยชน์จากงาน Thailand Focus – BANK ชอบ KBANK, SCB / COMM ชอบ BJC, MEGA / OTHERS ชอบ MAJOR, PLANB, BCH, DIF

 

 

นอกจากนี้ เรายังคงชอบหุ้น 3 กลุ่มที่พิสูจน์แล้วว่า “Outperform” จากสงครามการค้ารอบก่อน (1) TRANS – ชอบ BEM, BTS (2) HELTH – BDMS, EKH (3) COMM – BJC, CPALL ผสานหุ้นเชิงรับปันผลดี - EASTW, EGCO, MAJOR, RATCH, ROJNA, TPIPP รวมทั้งหุ้นใน PF&REIT&IFF - QHPF, CPNREIT, WHART, EGATIF, JASIF, DIF, TFFIF 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

BOJขึ้นดอกเบี้ย By: แม่มดน้อย

งแม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ในที่สุด BOJ ก็ขึ้นดอกเบี้ย ตามคาด โดยคณะกรรมการ BOJ....

‘PANEL’ เปิดบ้านต้อนรับกลุ่มนักลงทุน ผู้บริหารมั่นใจธุรกิจเติบโตสูง ตุนแบ็คล็อกคุณภาพสูงเต็มพอร์ท

‘PANEL’ เปิดบ้านต้อนรับกลุ่มนักลงทุน ผู้บริหารมั่นใจธุรกิจเติบโตสูง ตุนแบ็คล็อกคุณภาพสูงเต็มพอร์ท

มัลติมีเดีย

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้