Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : ส่อง ADVANC น่าซื้อมั้ย?

5,716

HotNews : ส่อง ADVANC น่าซื้อมั้ย?

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (6 สิงหาคม 2562) ADVANC   ยักษ์ใหญ่สื่อสารไทย  ประกาศกำไร Q2/62  มีกำไรสุทธิ 7.75 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.61 บาทเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.01 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.69 บาท  พร้อมแจกปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 3.78 บ. ขึ้น XD 16 ส.ค.62

 

ด้านนักวิเคราะห์ ส่องหุ้น ADVANC คึกคัก ดีบีเอสฯ แนะซื้อ ราคาเป้าหมาย 226 บาท/หุ้น ,เอเชีย เวลท์ แนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 225 บาท/หุ้น, กสิกรไทย นำซื้อ ราคาเป้าหมาย 227.95 บาท/หุ้น , ทรีนีตี้ แนะซื้อ ราคาเป้าหมาย 230 บาท/หุ้น, ฟิลลิป แนะทยอยซื้อ ราคาเป้าหมาย 212 บาท/หุ้น และฟินันเซีย ไซรัส แนะซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมาย 220 บาท/หุ้น

 

ขณะที่ทิสโก้ แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 205 บาท/หุ้น ,เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 207 บาท/หุ้น ,แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำ "WEAKBUY" ราคาเป้าหมาย 208 บาท/หุ้น และคิงส์ฟอร์ด แนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 220 บาท/หุ้น

 

 

 

 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ADVANC เปิดเผยว่า ผลประกอบการใน Q2/62 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8,234 ล้านบาท (ไม่รวมรายการพิเศษ) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 8.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา คิดเป็นกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นสี่ไตรมาสติดต่อกัน พร้อมคงคาดการณ์รายได้การให้บริการเติบโตทั้งปีที่ 4-6% และตั้งเป้าอัตรากำไร EBITDA ทั้งปีใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 42-44% พร้อมจัดสรรงบลงทุน 20,000 – 25,000 ล้านบาทสำหรับลงทุนทั้งในโครงข่าย 4G และไฟเบอร์

 

 

รายได้รวมไตรมาส 2/62 เติบโตขึ้น 5.8% จากปีก่อน จากภาพรวมของการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อเลขหมาย ARPU (Average Revenue per User) สูงขึ้นเป็น 263 บาทต่อเดือน และส่งผลให้รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโต 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

ปัจจุบันเอไอเอสยังคงความเป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่งโดยมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงสุดในตลาดที่ 41.5 ล้านเลขหมาย ขณะที่มีสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G สูงถึง 66% และมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็น 11.5 กิกะไบต์ต่อเดือน จาก 8.9 กิกะไบต์ต่อเดือน ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

 

ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ยังคงมีรายได้เติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งด้วยอัตราการเติบโตกว่า 26% ด้วยคุณภาพโครงข่ายและงานบริการที่ดีเยี่ยม พร้อมด้วยกลยุทธ์ Fixed Mobile Convergence ที่ดึงดูดใจลูกค้า จนทำให้ในปัจจุบัน AIS Fibre มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 855,400 ราย ครอบคลุมการใช้งานในพื้นที่ 57 จังหวัดทั่วประเทศ และยังคงเน้นย้ำเป้าหมายจำนวนลูกค้า 1 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้

 

 

 

 



นอกจากนี้ เอไอเอสได้วางรากฐานต่อยอดการเติบโตในอนาคตโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสู่ 5G ได้แก่

 

 

-การพัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยี 5G ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อร่วมศึกษาวิจัย ค้นคว้า และทดลองทดสอบ


-การรับจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz เพื่อก้าวสู่ 5G โดยจะสามารถเริ่มใช้งานได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า ซึ่งคลื่นความถี่ 700MHz ถือเป็นคลื่นความถี่มาตรฐานของเทคโนโลยี 5G ในย่านความถี่ต่ำที่มีคุณสมบัติเด่นในด้านความครอบคลุม จึงถือเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการให้บริการ 5G ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าได้เป็นอย่างดี


-ขยายตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กร จากความแข็งแกร่งของ AIS Business ผนึกเข้ากับ CSL ที่มีความเชี่ยวชาญในฐานะผู้ให้บริการ One Stop ICT Service แบบครบวงจร ภายใต้กลยุทธ์ 3Ss ประกอบด้วย Solutions, Services และ System Integration สนับสนุนการให้บริการ Data Center และ Cloud ให้แก่ธุรกิจองค์กรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


-พัฒนาบริการด้าน IoT เพื่อส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจไทย โดยนำโซลูชัน NB-IoT Motor Tracker เข้ามาเสริมขีดความสามารถให้กับธุรกิจประกันภัยรถยนต์ โดยบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด เป็นครั้งแรก ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาบริการดิจิทัลที่ดีที่สุด สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรในทุกอุตสาหกรรม

 


“และสิ่งที่สำคัญไปกว่าความสำเร็จในแง่ธุรกิจ เอไอเอสในฐานะภาคเอกชนของไทย ยังตระหนักถึงการได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศชาติและดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยในสังคมยุคดิจิทัล ผ่านโครงการ อุ่นใจไซเบอร์ ภายใต้แนวคิด “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานความรู้เท่าทันดิจิทัล ผ่านเครื่องมือแบบทดสอบ DQ รวมไปถึงได้ต่อยอด “ภารกิจคิดเผื่อ” องค์ความรู้สู่ระดับภูมิภาคในงาน AIS ACADEMY for THAIs: to the Region ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากที่จังหวัดเชียงใหม่ และเตรียมจะจัดขึ้นต่อเนื่องที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย

 

 




บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

 

ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า ADVANC รายงานกำไรสุทธิ 2Q62 ดีกว่าคาด Core profit 2Q62 เท่ากับ 8.1 พันล้านบาท (+2%YoY, +8%QoQ) ดีกว่าที่เราคาด 10% โดยหลักมาจากรายได้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดีกว่าคาด หลักๆ มาจากรายได้ต่อเครื่องต่อเดือน (ARPU) เพิ่มขึ้น +2%YoY และ +4%QoQ บริษัทตั้งสำรองผลตอบแทนพนักงานตามกฎหมายใหม่ 636 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายอยู่ที่ 7.6 พันล้านบาท (-3%YoY และ +3%QoQ) รายได้ 2Q62 เติบโตดี (+3%YoY, +4%QoQ)

 

 

โดยรายได้จากธุรกิจมือถือ +3%YoY และ ARPU +1.5%YoY ส่วน TBB โตแกร่ง +26%YoY จากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น แต่ ARPU ของ FBB ลดลง (-8.5%YoY, -0.9%QoQ) ยอดขายเครื่องโต YoY แต่ลดลง QoQ ต้นทุนบริการสูงขึ้น 5%YoY และ 2%QoQ จากค่าธรรมเนียมจ่ายเพิ่มขึ้น, มีต้นทุนที่ต้องจ่ายให้ TOT และค่าตัดจำหน่ายค่าใบอนุญาต 1800MHz เพิ่มขึ้น

 


แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 226 บาท ทั้งนี้การแข่งขันในธุรกิจยังคงสูง อย่างไรก็ดี เชื่อว่าบริษัทจะบริหารจัดการได้ดี และมี EBITDA margin ที่เสถียรราว 43% ในปีนี้ (ในรอบ 1H62 อยู่ในระดับดังกล่าว) บริษัทประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล 3.78 บาท/หุ้น (73% ของกำไรสุทธิ) กำหนด XD 16 ส.ค.นี้ และชำระเงิน 3 ก.ย.62

 

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด

 

ระบุว่า ADVANC รายงานผลประกอบการในไตรมาส 2/62 มีกำไรสุทธิ 7,755 ล้านบาท (-3.1%YoY แต่ +2.4%QoQ) ซึ่งสูงกว่า Consensus คาดไว้ที่ 7,000 ล้านบาท และ EBITDA ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 19,551 ล้านบาท (+2.4%YoY และ +2.0%QoQ) โดยเป็นผลมาจากรายได้รวมที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 44,081 ล้านบาท (+4.4%YoY และ +1.9%QoQ) เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 ที่ทำได้ 43,262 ล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับตัวสูงขึ้น 5.3%YoY เป็น 32,900 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ถอนแพ็กเกจ Fixed Speed Unlimited

 

 

โดยได้ปรับเป็นราคาปกติ นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจอินเตอร์เน็ตที่มีการปรับตัวต่อสูงขึ้นต่อเนื่อง 26%YoY เป็น 1,380 ล้านบาท โดยมีลูกค้าเพิ่มขึ้น 60,000 ราย เป็น 855,000 ราย ในส่วนของ SG&A ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 7,706 ล้านบาท (+24%YoY และ +14%QoQ) โดยสาเหตุหลักมาจากค่าโฆษณารวมทั้งรายการพิเศษในการตั้งสำรองพนักงานตามกฎหมายจาก 300 วันเป็น 400 วัน เป็นจำนวน 602 ล้านบาท

 

 

คาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะกลับมาสดใสหลังจากบริษัทได้มีการถอนแพ็กเกจ Fixed Speed Unlimited ซึ่งเราคาดว่าจะช่วยให้ APRU ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องโดยในไตรมาส 2/62 APRU ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 263 บาท โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/62 ที่ทำได้ 253 บาท รวมทั้งอัตรา VOU (จำนวนกิกะไบค์ต่อเลขหมายต่อเดือน) ได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 11.5 กิกะไบค์

 

 

นอกจากนี้เราคาดว่าธุรกิจอินเตอร์เน็ตยังมีการเติบโตที่สูงต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานราว 855,000 ราย จากเป้าที่บริษัทตั้งเป้าหมายในปี 2562 ที่ 1 ล้านราย ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดเพียง 8% ทั้งนี้คาดว่าจะหนุนจากแพ็กเกจคอนเวอร์เจนซ์ ซึ่งเป็นแพ็กเก็จที่ให้บริการครอบคลุมทั้งอินเตอร์เน็ต สมาร์ททีวี และโทรศัพท์

 

 

แนะนำซื้อ โดยคาดว่าผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปี 2562 จะฟื้นตัวต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่ทางบริษัทตั้งไว้ โดยมีปัจจัยบวกจาก (1) การถอนแพ็คเกจ Fixed- Speed Unlimited ซึ่งจะช่วยหนุน APRU ให้ปรับตัวสูงขึ้น (2) ธุรกิจอินเตอร์เน็ตที่ยังมีการเติบโตต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านรายภายในปี 2562 (3) การรับจัดสรรคลื่น 700MHz จะช่วยเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายระบบ 4G ร่วมทั้งการรองรับ 5G ในอนาคต ซึ่งอาจเป็น S-Curve ใหม่

 

 

นอกจากนี้เรามองว่าการที่บริษัทเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700MHz ส่งผลดีต่อภาระทางการเงินของบริษัทเนื่องจากได้รับการขยายระยะเวลาชำระคลื่น 900MHz รวมทั้งบริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม เราแนะนำซื้อ โดยกำหนดราคาเป้าหมายที่ 225.00 บาท อิงวิธี DCF และมีอัตราปันผลที่ 3.6%

 

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด

 

เปิดเผยว่า ADVANC กำไรธุรกิจหลักในไตรมาส 2/2562 และเงินปันผลต่อหุ้น (DPS) ในครึ่งแรกของปี 2562 ของ ADVANC ออกมาสูงกว่าที่เราคาดอยู่ 7% และ 9% ตามลำดับ โดยกำไรครึ่งแรกของปี 2562 คิดเป็น 50.4% ต่อประมาณการกำไรธุรกิจหลักทั้งปี 2562 ของเรา ทั้งนี้ ผู้บริหารยังคงตัวเลขแนวทางการดำเนินงานทั้งปี 2562 ที่สะท้อนถึงการเติบโตในรายได้บริการที่ 4-8% YoY อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 45% สำหรับครึ่งหลังของปี 2562 เทียบกับครึ่งแรกของปี 2562 ที่รายได้บริการโตขึ้น 4% YoY และอัตรา EBITDA ที่ 43.7%

 

 

ทั้งนี้ เราเล็งเห็นถึง upside risk ต่อตัวเลขแนวทางทั้งปี 2562 ของผู้บริหาร เพราะ  1) รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ที่อาจปรับสูงขึ้นจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมที่จะยกเลิกแพ็คเกจที่ขาดทุนอย่างใช้ไม่อั้นจำกัดความเร็ว และ 2) การประหยัดต้นทุนจากการยุติให้บริการ 2G ทั้งนี้ เราได้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรธุรกิจหลักปี 2563-64 ขึ้น 4% พร้อมกับปรัเพบิ่มราคาเป้าหมายอิงวิธีคิดลดเงินสด (DCF) สำหรับปี 2563 ขึ้น 3% เป็น 227.95 บาท และคำแนะนำ "ซื้อ" ADVANC

 

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

 

ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า คงคำแนะนำ "ซื้อ" ADVAN ที่ราคาเป้าหมาย 230 บาท ราคาหุ้น ADVANC ได้ปรับตัวลงมาในจุดที่น่าสนใจ และปรับตัวลงมาในระดับที่ต่ำกว่า 210 บาทอย่างที่เราได้กล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ เราจึงมองว่าราคาหุ้นในปัจจุบันเป็นโอกาสในการเริ่มทยอยสะสมหุ้นอีกครั้ง

 

 

เนื่องจากมี Upside ที่จูงใจมากขึ้น พร้อมทั้งผลการดำเนินงานที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด ทำให้เราคาดว่าจะส่งผลให้ ADVANC กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ทั้งนี้ บริษัทได้ประกาศจ่ายปันผลที่ 3.78 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราเงินปันผลที่ 1.8% โดยมีสัดส่วน Payout ratio ที่ 73% สูงกว่าที่เราคาดไว้เล็กน้อยอีกด้วย เราจึงยังคงแนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมายปี 2020 ที่ 230 บาทไว้เช่นเดิม

 

ความเสี่ยง ราคาประมูลใบอนุญาตคลื่นความที่ในอนาคต การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่รุนแรง เทคโนโลยี 5G ที่ยังไม่มีความชัดเจนในด้าน Use Case

 

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

ระบุว่า ADVANC รายงานกำไรสุทธิ 2Q62 ดีกว่าคาด: ADVANC ประกาศกำไรสุทธิ 2Q62 ที่ 7,754 ลบ. (-3.1% y-y, +2.4% q-q) ดีกว่าคาด และหากไม่นับรวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตาม พรบ. แรงงานใหม่ ADVANC รายงานกำไรปกติที่ 8,062 ลบ. (+1.8% y-y, +7.4% q-q) ด้วยแรงหนุนจาก i) รายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่หลังได้ผลบวกจากรายได้เฉลี่ย/เลขหมาย/เดือน (ARPU) ปรับขึ้นเด่นทั้ง Prepaid และ Postpaid สวนทางกับจำนวนผู้ใช้บริการสุทธิ (Net adds) ลดลง 26,300 เลขหมาย

 

 

ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกซิมแบบใช้ครั้งเดียว กดดันฐานลูกค้า Prepaid ลงหนัก แม้ว่าฐานลูกค้า Postpaid จะเพิ่มขึ้นต่อก็ตาม และ ii) รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเติบโตตามฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดแตะ 855,400 ราย ขณะที่ ARPU ยังปรับลงต่อ ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่สูง

 


แนวโน้ม 2H62 คาดดีต่อ แนะนำ "ทยอยซื้อ": ด้วยอานิสงส์บวกจากการยกเลิก Fixed-Speed Unlimited data plan คาดจะยังส่งผลดีต่อ ARPU เพิ่มขึ้นใน 2H62 บวกกับราคาปัจจุบันกลับมามี Upside ทางฝ่ายจึงปรับเป็น "ทยอยซื้อ" (เดิม "ถือ") ทั้งนี้บริษัทประกาศจ่ายปันผล 1H62 ที่ 3.78 บาท/หุ้น คิดเป็น Div.Yield ที่ 1.8%

 

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) 

 

เปิดเผยในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่า ADVANC ประกาศกำไรสุทธิ 2Q19 ที่ 7,754 ลบ. +2.4% Q-Q, -3.1% Y-Y หากตัดรายการพิเศษสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนออก กำไรปกติจะอยู่ที่ 8,011 ลบ. +7% Q-Q, +1.4% Y-Y ดีกว่าเราและตลาดคาดราว 5%

 

 

โดยปัจจัยหลักเกิดจากรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC ของธุรกิจมือถือที่โตดีกว่าคาด +4.3% Q-Q, +5.5% Y-Y หนุนโดย ARPU ที่ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งจากการแข่งขันที่ลดความรุนแรงลงหลังทุกผู้ให้บริการถอน Fixed-speed Unlimited Package ออก ขณะที่รายได้ธุรกิจ Fixed Broadband ยังเติบโตต่อเนื่อง +26.1% Y-Y ส่วนด้านฝั่งต้นทุนอยู่ภายใต้การควบคุมและใกล้เคียงกับที่เราประเมิน โดย EBITDA Margin ใน 2Q19 ปรับตัวขึ้นเป็น 45.4% จาก 44% ใน 1Q19 และทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 2H19 ของ ADVANC คาดว่าจะยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดียิ่งขึ้นจากผลกระทบของ Fixed-Speed Unlimited Package ที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องหลังครบอายุสัญญา 12 เดือนและทำให้ภาพการแข่งขันคาดว่ายังอยู่ในทิศทางชะลอความรุนแรง

 

 

นอกจากนี้คาดว่าจะประหยัดต้นทุนได้บางส่วนจากการยุติการให้บริการโครงข่าย 2G ในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ เราปรับประมาณการกำไรปกติปี 2019 ของ ADVANC ขึ้น 7% เป็น 32,321 ลบ. +8.8% Y-Y สะท้อน Upside ที่มีโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของธุรกิจมือถือที่กลับมาเติบโตได้แรงและเร็วกว่าคาด

 

 

ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมของ ADVANC ขึ้นจาก 200 บาทเป็น 220 บาท (DCF WACC 8.65%, Terminal Growth 2%) สะท้อนประมาณการกำไรที่ปรับขึ้น ประกอบกับราคาหุ้นอ่อนตัวลงหลังจากเราแนะนำ "ขายทำกำไร" ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ Upside เริ่มกลับมาเปิดกว้างมากขึ้น และจากสภาวะตลาดที่ผันผวนในปัจจุบันทำให้ ADVANC ดูน่าสนใจมากขึ้นในแง่ Defensive และ Dividend Play เราจึงปรับคำแนะนำขึ้นเป็น "ซื้อเก็งกำไร" รับปันผลงวด 1H19 ที่ 3.78 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Yield ราว 1.8%

 


ความเสี่ยง คือ การแข่งขันที่อาจกลับมารุนแรงมากขึ้นและทำให้รายได้จากการให้บริการยังโตในระดับต่ำ แผนการประมูลคลื่นความถี่ของรัฐที่ไม่มี Roadmap ชัดเจน

 

 

 

 

ด้าน สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด

 

ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า ADVANC รายงานผลประกอบการ 2Q19 ที่ 7.73 พันล้านบาท ลดลง 3.5% YoY แต่เพิ่มขึ้น 1.5% QoQ โดยผลประกอบการดีกว่าที่ตลาดและเราคาดไว้ที่ 7.3 พันล้านบาท และ 6.98 พันล้านบาท หากตัดผลของค่าเงินและการตั้งสำรองแรงงานออกกำไรปกติจะอยู่ที่ 8.11 พันล้านบาท ไม่รวมผลของภาษี ทั้งนี้บริษัทจ่ายเงินปันผล 3.78 บาท/หุ้น มากกว่าอัตราที่ประกาศ 70% ไว้เล็กน้อย โดยมีประเด็นสำคัญคือ

 


- รายได้จากการบริการเพิ่มขึ้นจากลูกค้า Postpaid : ADVANC รายงานรายได้จากการบริการเพิ่มขึ้น 4.1% โดยมาจากมือถือที่โต 3.2% YoY และบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น 27% YoY หากไม่รวมผลของ IFRS-15 รายได้จากการบริการมือถือจะโตขึ้นถึง 5.3% YoY และบรอดแบนด์ 26% โดยธุรกิจมือถือดีขึ้นจาก ARPU ที่เพิ่มขึ้นเป็น 571 บาทใน 2Q19 จากเดิมที่ 564 บาทใน 1Q19 นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 2.49 แสนราย บริษัทรายงานว่าการยกเลิกโปรแบบ Unlimited ทำให้ราคาของ Data เพิ่มขึ้น

 


- ARPU ของลูกค้า Prepaid เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณลูกค้าลดลง : ARPU ของ Prepaid เพิ่มขึ้นเป็น 182 บาท จากเดิมที่ 174 บาท แต่จำนวนลูกค้าลดลงในอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.24 หมื่นรายใน 1Q19 เป็น 2.76 แสนรายใน 2Q19 ซึ่ง ADVANC รายงานว่ามาจากกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นหลัก ในด้านของบรอดแบนด์ลูกค้าเพิ่มขึ้น 5.3 หมื่นราย แต่ ARPU ลดลงจาก 610 บาท เป็น 573 บาท จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

 


- มองแนวโน้มของ Postpaid ดีขึ้น : ผู้บริหารมองว่าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในกลุ่ม Postpaid จะเริ่มลดลง และบริษัทยังไม่มั่นใจว่าหลังจากที่โปร Unlimited Data ในปี 2018 หมดอายุจะทำให้ ARPU เพิ่มขึ้นตามที่คิดหรือไม่

 


- การฟื้นตัวของ Prepaid ทำได้ยาก และการแข่งขันของบรอดแบนด์ยังสูง : การแข่งขันที่สูงของกลุ่ม Prepaid ทำให้ ARPU เพิ่มขึ้นได้ยาก ในขณะที่บรอดแบนด์มีการแข่งขันที่สูงทำให้ต้องมีโปรลด 50% กดดัน ARPU ในอนาคต

 


- คาดผลประกอบการฟื้นตัวขึ้นแต่ เงินปันผลยังต้องใช้เวลา : แม้ว่าผลประกอบการ 2Q19 จะดีกว่าคาด ทำให้ผลประกอบการ 1H19 คิดเป็น 50% ของประมาณการทั้งปี ทำให้เราเชื่อว่าผลประกอบการน่าจะเป็นไปตามเป้าเนื่องจาก 2Q19 เป็นจุดที่ต่ำ จากการตั้งสำรองแรงงาน แต่เงินปันผลจะยังไม่เพิ่มขึ้นในอนาคตจาก 1) การประมูลคลื่นในอนาคต 2) โอกาสที่จะเกิดสงครามราคา ทำให้เราคาดว่าเงินปันผลจะเพิ่มขึ้นได้ใน 2020F เราแนะนำให้ "ถือ" โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 205 บาท (DCF)

 

 

 

 




บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด

 

เรายังคงคำแนะนำ "ถือ" ADVANC ราคาเป้าหมาย 207.00 บาท อิง DCF (WACC 8.7%, Terminal growth 2.0%) บริษัทประกาศกำไรสุทธิ 2Q19 ที่ 7.8 พันล้านบาท ดีกว่าตลาดคาดราว 6% แต่หากตัดค่าใช้จ่ายพิเศษออกจะทำให้กำไรปกติอยู่ที่ราว 8.2 พันล้านบาท (+3% YoY, +9% QoQ) ปัจจัยหลักมาจาก ARPU ที่ปรับตัวขึ้นมาโดดเด่น (+2% YoY, +4% QoQ) หลังนำแพจเกจราคาถูกออกจากตลาดส่งผลให้รายได้หลักเติบโตสู่ระดับ 3.5 หมื่นล้านบาท +6% YoY, +7% QoQ)

 

 

อย่างไรก็ตามเรายังคงประมาณการกำไรปี 2019 โดยมองค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยกดดันและการปรับตัวขึ้นต่อของ ARPU ในระยะยาวยังต้องเผชิญการแข่งขันที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้การที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาราว 18% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเราประเมินตลาดตอบรับการแข่งขันที่เบาลงในระยะสั้นไปแล้ว ในขณะที่การเข้าสู่ช่วง Investment cycle รอบใหม่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงจะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นในระยะถัดไป (ทั้งนี้บริษัทประกาศจ่ายปันผลงวด 1H19 ที่ 3.78 บาทต่อหุ้น XD 16/8/19)

 



คงกำไรสุทธิปี 2019 คาดได้เห็นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปใน 2H19 เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2019E ที่ราว 3.0 หมื่นล้านบาท โดยกำไรสุทธิ 1H19 คิดเป็น 51% ของประมาณการทั้งปี ด้านค่าใช้จ่ายโครงข่ายและค่าใช้จ่ายการตลาดที่เกี่ยวข้องยังคงเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการ (แม้แพคเกจราคาถูกโดนถอนออกแต่ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายการตลาดอย่างต่อเนื่องรวมถึงการอุดหนุนค่าเครื่องที่มากขึ้น)

 

 

ทั้งนี้แม้มีโอกาสเกิด Upside จากการปรับตัวขึ้นของ ARPU ที่มาเร็วกว่าที่เราประเมินหลังบริษัทถอนแพคเกจราคาถูกออกจากตลาด แต่ยังไม่ให้น้ำหนักการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของ ARPU ในระยะยาวหลังการแข่งขันยังคงไม่แน่นอนและคาดว่าจะทำให้กำไรสุทธิปี 2019E จะยังคงอยู่ในกรอบประมาณการของเรา

 

 

ประเมินราคาเป้าหมายปี 2019 ที่ 207.00 บาท อิงวิธี DCF (WACC 8.7%, Terminal growth 2%) ระยะยาวการใช้งาน Data ที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าจะเป็น Key catalyst ให้กับหุ้น อย่างไรก็ตามระยะสั้นค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มเติมและการแข่งขันที่รุนแรงจะเป็นความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ทั้งนี้บริษัทประกาศจ่ายปันผลงวด 1H19 ที่ 3.78 บาทต่อหุ้น XD 16/8/19

 

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)

 

ระบุว่า กำไรสุทธิงวด 2Q62 ของ ADVANC ดีเกินคาด +2.4% QoQ แต่ -3.1% YoY แต่หักรายการพิเศษ ตั้งสำรอง Employee Retirement Benefit 620 ล้านบาท และกำไร FX 252 ล้านบาท กำไรปกติจะอยู่ที่ 8,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% QoQ และ 2.6% YoY ดีเกินคาดมาก เพราะรายได้หลักธุรกิจมือถือที่เติบโต 5% YoY จากผลบวกของการยกเลิกแพ็คเกจแบบใช้งานดาต้าไม่จำกัด และปรับราคาแพ็คเกจเป็นคิดตามปริมาณการใช้ ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายเพิ่มขึ้น 1.8% YoY และ 4.1% QoQ

 

 

ขณะผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 1.37 ล้านรายจาก 2Q62 มาอยู่ที 41.5 ล้านราย ขณะที่รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังเติบโตได้ดีคือเพิ่ม 26% YoY ตามจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น 2.3 แสนราย มาอยู่ที่ 8.55 แสนราย จากผลบวกของฐานลูกค้าที่ต่ำมากและการควบรวมกับ CSL แต่ถูกหักล้างบางส่วนจากค่าบริการรายเดือนที่ลดลงจาก 610 บาท เหลือ 558 บาท เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ารายได้เล็กน้อย

 

 


คาดกำไร 2H62 จะเติบโต YoY ชัดเจน จากฐานที่ต่ำมากในครึ่งหลังปีก่อน และการแข่งขันลดลง ทั้งนี้บริษัทยังคงตั้งเป้ารายได้ปี 2562 เติบโตราว 5%YoY EBITDA Margin ทรงตัวจากปีก่อนที่ 43.4% และงบลงทุน (CAPEX) ที่ 2-2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบลงทุน Broadband อินเตอร์เน็ตที่ 4-5 พันล้านบาท โดย ADVANC มีแผนรุกตลาดลูกค้าองค์กรมากขึ้น

 

 

โดยใช้จุดแข็งของ บ.ย่อย CS-Loginfo ซึ่งมีความชำนาญด้านฐานลูกค้าองค์กรเป็นตัวช่วยผลักดัน รวมทั้งยังเสริมด้วย การขายแพ็คเก็จมือถือควบคู่กับบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ด้วยราคาที่จูงใจขึ้น ขณะเชื่อว่าการยกเลิกขายแพ็คเก็จ Fixed Speed Unlimited ของทั้งอุตสาหกรรม เป็นสัญญาณบวก การแข่งขันราคาลดลง ทำให้เห็น ARPU ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่งวด 2Q62 และคาดจะดีขึ้นชัดเจนใน 2H62 บวกกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า คาดกำไรสุทธิงวด 2H62 จะเติบโต YoY อย่างชัดเจน

 

 

อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิงวด 1H62 คิดเป็น 49% ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 3.09 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อนหน้า ร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ไม่กระทบกำไรปีนี้ ขณะที่ปีหน้ายืดเวลาจ่ายคลื่น 900 ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง ผู้ให้บริการมือถือยื่นความประสงค์ ขอยืดเวลาการจ่ายค่าคลื่น 900 งวดสุดท้ายเป็นผ่อนชำระ 10 งวด และจะร่วมประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ 700 Mhz จำนวน 10 Mhz ที่ราวราคา 1.7 หมื่นล้านบาท โดย ADVANC จะได้ประโยชน์จากการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายที่กู้เงินมาจ่ายค่าคลื่นงวดสุดท้าย เม.ย.ปี 2563 ที่ราว 6.4 หมื่นล้านบาท ขณะคลื่น 700 Mhz คาดจะประมูลราวต.ค. ปี 2563 ซึ่งจะชำระเงินงวดแรกก่อนได้คลื่น 15 วัน ขณะที่การลงทุนคลื่น 700 Mhz ในช่วงแรก จะลงทุนเฉพาะ 4G เท่านั้น และต้องรอให้มีเครื่องมือถือที่รองรับคลื่น 700 Mhz 5G จำนวนมาก

 

 

จึงจะตัดสินใจลงทุนขยายโครงข่าย 5G อย่างจริงจัง ซึ่งต้องใช้คลื่นหลายคลื่นผสมผสานกัน เพื่อให้บริการ 5G มีประสิทธิภาพ ขณะที่ ปัจจุบันคลื่น 5G ที่เป็นมาตรฐานคือ คลื่น 3500 ที่อยู่ในมือ THCOM และ คลื่น 2600 ที่อยู่ในมือ MCOT กสทช.ยังต้องใช้เวลาเคลียร์กับเจ้าของคลื่นก่อนเปิดประมูลคลื่นอื่น งบลงทุน CAPEX ปีหน้า จึงมีแนวโน้มใกล้เคียงปีนี้ บวกกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มลดลง หันมาเน้นประสิทธิภาพมากขึ้น คาดกำไรปกติปีหน้าจะเติบโตได้ 6.3%

 

แม้เหลือ Upside จำกัด แต่คาดจะเห็นการเติบโตที่ชัดเจนในปีหน้า จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว โดยเราจะปรับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2563 หลังประกาศงบ 3Q62 โดยเบื้องต้นจะขึ้นไปอยู่ที่ 230 บาท บวกกับ ADVANC จะขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผลงวด 1H62 ที่ 3.78 บาท คิดเป็น 1.83% จึงแนะนำให้ซื้อลงทุนเมื่อราคาอ่อนตัว

 

ปัจจัยเสี่ยง การแข่งขันอาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง และประมูลคลื่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นความเสี่ยงต่อผลประกอบการของบริษัท

 

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน)

 

แนะนำ "ถือ"ADVANC โดยมีราคาเป้าหมายปี 62 ที่ 220.00 บาท คาดภาพของการแข่งขันในอุตสากรรมมือถือยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดของลูกค้าในกลุ่ม Prepaid ที่ผู้ประกอบการบางรายมีการใช้ระดับราคาที่ต่ำกว่าแต่ให้แพ็คเก็จ DATA ปริมาณสูงเพื่อจูงใจลูกค้า สำหรับจุดยืนของทาง ADVANC ยังคงเหมือนเดิมคือการพยายามรักษา Quality Subscriber เพื่อเพิ่มระดับ ARPU ต่อไปพร้อมกันกับการ Cross Sell บรอดแบรนด์ควบคู่กันไป สำหรับเป้าหมายในปีนี้ของ ADVANC ตั้งเป้ารายได้บริการเติบโตที่ Mid-single digit (เป้าเดิม)

 

 

จากผลการดำเนินงานครึ่งปีที่รายได้บริการขยายตัว 4%YoY เราจึงคาดว่าเป้าหมายปีนี้เป็นไปได้ แม้การแข่งขันในกลุ่มจะยังสูง ส่วนบรอดแบรนด์ก็มีเป้าหมายของจำนวนผู้ใช้งานทั้งปีที่ 1 ล้านเลขหมายและจะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดขยับขึ้นมาเป็น 10% จากปัจจุบันที่ 8% โดยรวมเรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง สำหรับประเด็นติดตามนอกจากเรื่องการประมูลคลื่นต่างๆคือ การหยุดให้บริการอุปกรณ์ 2G ในเดือนตุลาคมนี้ ปัจจุบัน ADVANC มีลูกค้า 2G ในระบบราว 2 ล้านเลขหมาย หากกลุ่มนี้หายไปก็อาจจะกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยรวม ซึ่งปัจจุบันทาง กสทช. ยังไม่ได้มีมาตรการรับมือ/เยี่ยวยา ที่เป็นรูปธรรมทำให้ประเด็นนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

 

 

คาดการณ์กำไรสุทธิทั้งปี 2562 ไว้ที่ระดับ 3.1 หมื่น ลบ. +4.74%YoY, และประเมินมูลค่าเหมาะสมของ ADVANC ที่ 220.00 บาท (DCF Method, WACC 7.27%, Terminal Growth 2.00%) แนะนำ "ถือ" ADVANC ประกาศจ่ายปันผลรอบครึ่งปีที่ 3.78 บาท/หุ้น คิดเป็น Dividend Yield 1.83% จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 16 ส.ค. 62

 

ADVANC

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

สู้..ไปต่อ By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม วันนี้ นักลงทุน ยังคงไม่ผลีผลาม ตะลุมบอนหุ้น แบบว่า ต่อสู้กับเกมหุ้น ไปต่อ อย่างมีสติ สัปดาห์หน้า....

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้