Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : SQ วิ่งสะบัด เก็งโค้ง 2/62 โตดี โบรกฯ ส่อง Upside ตุง 56%

3,433

HotNews : SQ วิ่งสะบัด เก็งโค้ง2/62 โตดี โบรกฯ ส่อง Upside ตุง 56%

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ ( 24 มิถุนายน 2562) ส่องราคาหุ้น SQ วันนี้ปิดพุ่งขึ้น 9.38% มาอยู่ที่2.80 บาท เพิ่มขึ้น0.24 บาท มูลค่าซื้อขาย 66.44 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 2.60 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 2.80 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 2.60 บาท กูรูหุ้นเมย์แบงก์ คาดกำไร Q2/62 SQ จะชะลอตัวเหลือ 60 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 36% QoQ แต่ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุน 58 ล้านบาท ด้านกูรูเคจีไอยังคงคำแนะนำซื้อ SQ ราคาเป้าหมาย ที่ 4 บาท ระบุราคาหุ้นจะได้แรงหนุนจากความคาดหมายว่าผลประกอบการจะออกมาดีในQ2/62 และยังมี upside ถึงราคาเป้าหมายถึง 56% ส่วนกูรูเอเชีย เวลท์ คงคำแนะนำซื้อ SQ ปรับราคาเป้าหมายขึ้นจาก 2.9 บาทเป็น 3.2 บาท อิงค่า PER เดิมที่ 14 เท่า คาดผลประกอบการปี 62 จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ

 

 


บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด ออกบทวิเคราะห์เปิดเผยว่า คาดกำไร 2Q62 จะชะลอตัวเหลือ 60 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 36%QoQ แต่ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุน 58 ล้านบาท แนวโน้มรวมปี 2562 ปริมาณขุดขนดินและถ่านหินรวมจะเพิ่มขึ้นมาก ทำให้กำไรดีขึ้น 220 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุน 285 ล้านบาท แนวโน้มปี 2563 จะเติบโตดีขึ้นอีกแรงหนุนงานใหม่โครงการหงสา มีอัพไซด์เพิ่มจากโครงการใหม่ คือ เหมืองถ่านหินที่เมียนมาร์ และ หงสาเฟส F คงแนะนำ TRADING BUY ประเมินราคาเป้าหมายด้วยวิธี DCF (WACC = 8%) เท่ากับ 3.2 บาท

 

 

แนวโน้ม 2Q62 จะชะลอตัวลง หลังจากที่ไตรมาส 1Q62 มีกำไรที่สูงถึง 92 ล้านบาท ซึ่งปริมาณขุดขนดินและถ่านหิน โครงการแม่เมาะ 8 และ แม่เมาะ 7 จะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อยตามผลของฤดูกาล ส่วนโครงการหงสา มีการปรับเคลื่อนย้ายสายพาน 7 วัน จะทำให้ปริมาณขุดขนดินลดลง เราประเมินรายได้ 1,202 ล้านบาท (-3%QoQ, +49%YoY) และ คาดจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับลดลงเหลือ 20.3% เทียบกับ 21.3% ในไตรมาสก่อน แต่ดีขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบ 2.5% เนื่องจากเจอปัญหาดินสไลด์ นอกจากนี้ใน 2Q62 ยังได้รับผลกระทบจากกฏหมายแรงงานใหม่จะต้องตั้งสำรองเพิ่ม 7.9 ล้านบาท ดังนั้น สุทธิแล้วเราประเมินกำไร 2Q62 เท่ากับ 60 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 36% ในขณะที่ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุน 58 ล้านบาท

 

 

 

 

ผู้บริหารคงประมาณการปริมาณขุดขนดินและถ่านหินในปี 2562 รวมจะเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณขุดขนดินรวมจะเพิ่ม 43% คือ 1.) โครงการแม่เมาะ 8 เท่ากับ 47 ล้านลบม.แน่น (+73%) และ ได้ชดเชยความเสียหายจากดินสไลด์ 49 ล้านบาท จากปรับราคาขายเพิ่ม 2.) โครงการหงสา 19.1 ล้านลบม.แน่น (+14%) 3.) โครงการแม่เมาะ7 เท่ากับ 17.5 ล้านลบม.แน่น (20%) และ ปริมาณขุดขนถ่านหินรวมจะเพิ่มขึ้น 16% เป็น 13.3 ล้านตัน โดยเฉพาะโครงการแม่เมาะ 7 ปีนี้ค่าเสื่อมจะลดลง 80 ล้านบาท ทำให้รวมแล้วยอดรับรู้รายได้ปีนี้จะเท่ากับ 4,640 ล้านบาท โต 30% และ คาดจะมีกำไรสุทธิเท่ากับ 220 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปีก่อนที่ขาดทุน 285 ล้านบาท

 

 

SQ ได้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่ดีบุกที่เมียนมาร์ มูลค่าโครงการ 3,672 ล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ไม่มีความคืบหน้าและโครงการนี้ไม่ได้อยู่ในประมาณการของเรา แต่ SQ ยังมี Backlog ปัจจุบันที่สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ทยอยรับรู้ในช่วง 8 ปีข้างหน้า และ ยังมีศักยภาพจะได้งานเพิ่มเติมในอนาคต คือ โครงการหงสาเฟส F มูลค่าโครงการ 4 พันกว่าล้านบาท และ โครงการเหมืองถ่านหินในเมียนมาร์กำลังเจรจา

 

ความเสี่ยง : ค่าแรงขั้นต่ำ อุปสรรคหน้างาน ต้นทุนมากกว่าประเมิน ภาระหนี้สูง

 

 

 

 

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์วันนี้ว่า คาดว่ากำไรสุทธิของ SQ ใน 2Q62 จะสูงกว่า 70 ล้านบาท ดีขึ้น YoY จากขาดทุนสุทธิ 58 ล้านบาท แต่คาดว่าจะลดลง QoQ จากที่มีกำไรสุทธิ 92 ล้านบาท โดยผลประกอบการที่พลิกฟื้น YoY มาจากปริมาณการขุดดินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่โครงการแม่เมาะ 8 หลังจากที่บริษัทเริ่มใช้เครื่องสายพานลำเลียงดินใหม่ใน 3Q61 ในขณะที่เรายังคงคำแนะนำซื้อ และให้ราคาเป้าหมาย DCF ที่ 4.00 บาท โดยใช้ WACC ที่ 8% และไม่มี terminal growth เราเชื่อว่าราคาหุ้นจะได้แรงหนุนจากความคาดหมายว่าผลประกอบการจะออกมาดีใน 2Q62 และยังมี upside ถึงราคาเป้าหมายของเราอีกถึง 56% แต่อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของ SQ ใน 3Q62 ถูกคาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนในไตรมาสที่สามของทุกปี

 

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บริษัทได้แจ้ง SET ว่าได้ยกเลิกสัญญาให้บริการเหมืองดีบุกระยะเวลา 7 ปีกับ Myanmar Pongpipat Co., Ltd. มูลค่า 3.7 พันล้านบาท เนื่องจากเจ้าของสัมปทานชาวเมียนมาร์ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งทำให้การเริ่มโครงการต้องเลื่อนมาตั้งแต่ 3Q60 ทั้งนี้บริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษใดๆ จากการยกเลิกสัญญานี้ และยังจะได้อานิสงส์จากต้นทุนการบริหารโครงการที่ลดลงด้วย ในขณะเดียวกันเรายังคงประมาณการกำไรปีนี้เอาไว้ที่ 251 ล้านบาท และปีหน้าที่ 344 ล้านบาทเนื่องจากเราได้ถอดสัญญาให้บริการเหมืองดีบุกออกจากแบบจำลองของเราตั้งแต่ที่เราออกบทวิเคราะห์เรื่อง "Misfortune from landslide impact ended" เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ไปแล้ว ทั้งนี้เมื่อปลาย 1Q62 บริษัทยังมี backlog ที่แข็งแกร่งอยู่อีกถึง 3.03 หมื่นล้านบาท

 

 

คาดว่ากำไรสุทธิของ SQ ใน 2Q62 จะสูงกว่า 70 ล้านบาท ดีขึ้น YoY จากขาดทุนสุทธิ 58 ล้านบาท แต่คาดว่าจะลดลง QoQ จากที่มีกำไรสุทธิ 92 ล้านบาท โดยผลประกอบการที่พลิกฟื้น YoY มาจากปริมาณการขุดดินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่โครงการแม่เมาะ 8 หลังจากที่บริษัทเริ่มใช้เครื่องสายพานลำเลียงดินใหม่ใน 3Q61 แต่อย่างไรก็ตาม กำไรที่ลดลง QoQ จะมาจากการตั้งสำรอง 7.9 ล้านบาทตามกฎหมายแรงงานใหม่ของไทยใน 2Q62 แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ เราคาดว่ากำไรจากธุรกิจหลักใน 2Q62 จะทรงตัว QoQ แม้ว่า utilization rate ของเครื่องสายพานลำเลียงดินใหม่ที่โครงการแม่เมาะ 8 จะเพิ่มเป็นกว่า 90% ใน 2Q62 จาก 85-90% ใน 1Q62

 

 

เนื่องจากปริมาณการขุดดินในโครงการแม่เมาะ 7 และหงสาลดลง QoQ เพราะมีฝนตกในเดือนมิถุนายน แต่อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของ SQ ใน 3Q62 ถูกคาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนในไตรมาสที่สามของทุกปี

 

 

 

 

 

 

ยังคงคำแนะนำซื้อ และให้ราคาเป้าหมาย DCF ที่ 4.00 บาท โดยใช้ WACC ที่ 8% และไม่มี terminal growth โดยเราเชื่อว่าราคาหุ้นจะได้แรงหนุนจากความคาดหมายว่าผลประกอบการจะออกมาดีใน 2Q62 และยังมี upside ถึงราคาเป้าหมายของเราอีกถึง 56%

 

 

ฤดูฝนในไตรมาสที่สามของทุกปี, ราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น, ดินถล่ม, และต้องเพิ่มทุนหากได้งานใหม่ที่มีขนาดเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

 

 

 

 


ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด เปิดเผยว่า คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 2/62 ปรับตัวลงจากไตรมาส 1/62 เล็กน้อย เนื่องจาก (1) เริ่มมีฝนตกในช่วงไตรมาส 2/62 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขุดขนดิน (2) มีการปรับแนวสายพานใหม่ในเหมืองหงสาเป็นระยะเวลา 7 วัน ส่งผลให้รายได้จากการขุดขนดิน และถ่านหินในเหมืองหงสาลดลง แต่คาดจะถูกชดเชยจากการเพิ่มกำลังการทำงาน (U-rate) ในเหมืองแม่เมาะ 8 จากที่ทำได้ 80-85% ใน ไตรมาส 1/62 เป็น 90-95% ในไตรมาส 2/62 และ (3) มีการบันทึกค่าใช้จ่ายจากผลประโยชน์พนักงานประมาณ 8 ล้านบาทในไตรมาส 2/62

 

 

ปรับประมาณการรายได้ปี 2562 ขึ้นประมาณ 6% จาก 4.4 พันล้านบาทเป็น 4.7 พันล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการปรับเพิ่มกำลังการทำงาน (U-rate) ของเหมืองแม่เมาะ 8 เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพการทำงานที่กลับสู่ภาวะปกติหลังจากเหตุการณ์ดินสไลด์ในปีก่อน นอกจากนี้งานใหม่ O&M ในเหมืองหงสา มูลค่า 2.2 พันล้านบาทที่บริษัทเพิ่งชนะการประมูล คาดจะช่วยเสริมความคล่องตัวในการทำงานในเหมืองหงสาได้ โดยในปี 2563 เป็นต้นไป บริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการขุดขนดิน และถ่านหิน ตลอดจนลำเลียงดิน และถ่านหินเองทั้งหมด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต่อเนื่อง (Flow) ในการลำเลียงได้ ดังนั้นคาดรายได้จากเหมือง หงสาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ในปี 2563 เป็นต้นไป

 

 

เราคงคำแนะนำซื้อ และปรับราคาเป้าหมายขึ้นจาก 2.9 บาทเป็น 3.2 บาท อิงค่า PER เดิมที่ 14 เท่า เราคาดผลประกอบการปี 2562 จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ บวกกับการปรับขึ้นราคาค่าจ้างต่อหน่วยจาก EGAT ตลอดปี 2562 ช่วยหนุนรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้น ส่วนจากยกเลิกงานเหมืองดีบุกที่พม่า มูลค่า 3.6 พันล้านบาท คาดบริษัทจะสามารถหางานอื่นเติมแทนได้ โดยบริษัทอยู่ในระหว่างศึกษา 2-3 โครงการ คาดจะได้ข้อสรุปภายในปี 2562 ปัจจุบันบริษัทมี Backlog อยู่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพียงพอรับรู้รายได้ประมาณ 6-7 ปี

 

 

 

 

SQ มั่นใจคว้างานใหม่ ทดแทนงานเหมืองดีบุก

นายศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ กล่าวว่า ในปัจจุบัน บริษัทฯ ยังมีปริมาณงานในมือสูงถึง 30,310 ล้านบาท หลังจากบริษัทฯ ได้ยกเลิกงานโครงการเหมืองแร่ดีบุก เมืองเฮนดา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่ามูลค่าประมาณ 3,672 ล้านบาท โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามมติคณะกรรมการบริษัทฯ

 

 

เนื่องจากผู้ว่าจ้างยังไม่สามารถต่อสัญญาสัมปทานระยะยาวจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า มูลค่างาน 30,310 ล้านบาทที่มี รองรับการรับรู้รายได้ประมาณ 9 ปี ประกอบด้วยงานโครงการเหมืองแม่เมาะ 8 มูลค่าประมาณ 18,106 ล้านบาท, งานโครงการเหมืองหงสาที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลค่าประมาณ 9,619 ล้านบาท งานโครงการเหมืองแม่เมาะ 7 มูลค่าประมาณ 320 ล้านบาท และล่าสุดบริษัทฯได้รับงานเพิ่มจากโครงการเหมืองหงสา ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มูลค่ากว่า 2,265 ล้านบาท

 

 

ขณะนี้ SQ กำลังเสนองานโครงการเหมืองขนาดใหญ่หลายโครงการในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในสปป.ลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า และมีความมั่นใจว่าจะได้รับงานใหม่ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและมีเสถียรภาพสูงกว่างานเหมืองดีบุกที่ได้ขอยกเลิกไป"

 


อนึ่ง บริษัท สหกล อิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SQ) มีผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2562 ที่กลับมาเติบโตสูงอีกครั้ง โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 92 ล้านบาท เติบโตถึง 340% จากขาดทุนสุทธิ 39 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน จากรายได้รวม 1,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากรายได้รวม 836 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

 

โดยมีกำไรขั้นต้น 271 ล้านบาท เติบโตจากกำไรขั้นต้นประมาณ 200 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนบริษัท สหกล อิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ เป็นผู้รับเหมา งานเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย และภูมิภาค CLMV มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถเฉพาะด้าน รวมถึงทีมงานผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเหมืองมากว่า 34 ปี และยังครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50 % อีกด้วย พร้อมทั้งยังมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่สามารถตอบสนอง กับลักษณะงานเหมืองครบวงจร ได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของบริษัทฯ

 

 

 

 

 


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร "SQ" ที่ "BBB-" แนวโน้ม "Stable"

 

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB-" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจหลักของบริษัทที่มีความมั่นคงในฐานะที่บริษัทเป็นผู้รับเหมาทำเหมืองแร่ระดับแนวหน้า ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่มีเสถียรภาพจากการมีสัญญาจ้างงานระยะยาวกับเจ้าของงานซึ่งมีฐานะทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือสูง และมูลค่างานที่รอรับรู้รายได้จำนวนมาก ทว่าจุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงและความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจด้วยเหตุที่รายได้และกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทเกิดจากโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่มากนัก

 



ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้รับเหมาทำเหมืองชั้นแนวหน้าบริษัทเป็นผู้รับเหมาทำเหมืองชั้นนำโดยมีผลงานเป็นที่ยอมรับในการทำเหมืองแร่ อีกทั้งยังมีทีมวิศวกรเหมืองแร่ที่มีประสบการณ์สูง และมีเครื่องจักรที่ใช้ในงานเหมืองที่มีความพร้อม

 

 

บริษัทดำเนินโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะมาแล้วหลายระยะตลอดช่วงเวลามากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทชนะการประมูลงานและมีสัญญาระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบผู้รับเหมาหลักหรือในรูปแบบผู้ปฏิบัติการร่วม ซึ่ง กฟผ. จะใส่ชื่อของบริษัทเอาไว้ในรายชื่อของผู้รับเหมาที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการรับงานซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรับงานเหมืองของบริษัทได้เป็นอย่างดี

 

 

บริษัทพยายามแสวงหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการเติบโต ในปี 2557 บริษัทได้ลงนามในสัญญาให้บริการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์กับ Hongsa Power Co., Ltd. (HPC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าระดับแนวหน้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ซึ่งโอกาสในการเติบโตดังกล่าวก็นำมาซึ่งความเสี่ยงของประเทศที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นสู่โอกาสใหม่ในการขยายงานไปในต่างประเทศของบริษัท

 

 

มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมาก ในเดือนมีนาคม 2562 บริษัทชนะการประมูลงานบริหารจัดการและซ่อมบำรุงระบบสายพานลำเลียงของเสียและเถ้าถ่านหินของ HPC โดยสัญญามีอายุ 7 ปีและมีมูลค่า 2,265 ล้านบาท ซึ่งช่วยให้บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบจำนวนมากถึง 30,478 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 นอกเหนือจากโครงการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงระบบสายพานแล้ว บริษัทยังมีงานที่ยังไม่ส่งมอบอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วยโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 มูลค่า 487 ล้านบาท โครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 มูลค่า 18,106 ล้านบาท และโครงการเหมืองหงสาใน สปป. ลาว มูลค่า 9,620 ล้านบาท

 

 

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาจ้างงานระยะยาวและการมีผู้ว่าจ้างที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตต่ำ ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างหลักของบริษัทคือ กฟผ. ซึ่งจ้างงานบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด

 

 

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจถึงแม้ว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะมีความแข็งแกร่ง แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทมีขอบเขตงานที่ค่อนข้างแคบซึ่งทำให้บริษัทต้องแบกรับความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจ ตัวอย่างได้แก่โครงการที่เหมืองแม่เมาะซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทที่คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 70%-85%

 

 

ของรายได้โดยเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่งานที่ยังไม่ส่งมอบก็เป็นโครงการขนาดใหญ่จำนวนไม่กี่โครงการเท่านั้น ในขณะที่โครงการที่มีมูลค่าสูงสุดคือโครงการขุดขนดินและถ่านหินที่เหมือง แม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งคิดเป็น 59% ของมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด ดังนั้น หากงานที่เหมืองแม่เมาะมีปัญหาหรือผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาดก็จะส่งผลกระทบต่อสถานะการเงินโดยรวมของบริษัทโดยตรง

 

 

ในมุมมองของทริสเรทติ้งยังเห็นว่าการที่บริษัทไม่ได้งานในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 9 ในปี 2560 นั้นได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้บริษัทพลาดโอกาสในการเติบโตภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น เพื่อที่จะพยุงให้ธุรกิจเติบโตต่อไป บริษัทจึงจำเป็นจะต้องขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ แต่กระนั้นบริษัทก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงจากผู้ว่าจ้างที่มีสูงกว่าด้วยเช่นกัน

 

 

ผลกระทบรุนแรงจากเหตุดินถล่มในพื้นที่โครงการและต้นทุนที่เกินงบประมาณ

 


ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้เนื่องจากผลกระทบที่รุนแรงกว่าคาดจากเหตุดินถล่มที่โครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2561 บริษัทได้รับความเสียหายจากการเกิดดินถล่มในพื้นที่ทิ้งดินของ กฟผ. ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 โดยระบบสายพานลำเลียงและเครื่องจักรบางส่วนของบริษัทได้รับความเสียหาย อีกทั้งยังทำให้การติดตั้งระบบสายพานลำเลียงต้องล่าช้าออกไปอีกด้วย

 

 

ทริสเรทติ้งมองว่าการเกิดเหตุดินถล่มเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การกู้ความเสียหายมีความล่าช้ากว่าที่ทริสเรทติ้งคาดเอาไว้เป็นอย่างมากเนื่องจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่โครงการทำให้การติดตั้งและทดสอบระบบสายพานเกิดความล่าช้า ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากการที่บริษัทต้องใช้งานรถบรรทุกอย่างหนักเพื่อขนดินแทนระบบสายพานลำเลียง ในการนี้ บริษัทจะได้รับเงินค่าชดเชยความเสียหายจากเหตุดินถล่มจาก กฟผ. จำนวน 49.5 ล้านบาท อย่างไร ก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าเป็นการเยียวยาที่น้อยมาก

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนดำเนินงานที่เกินงบประมาณในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 อีกด้วย ส่งผลให้โดยรวมแล้วอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 25% จากระดับ 37%-41% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 285 ล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่เพียง 760 ล้านบาท โดยลดลงจากประมาณ 1,000 ล้านบาทในปีก่อนหน้า

 

 

ผลการดำเนินงานคาดว่าจะกลับสู่ระดับปกติ

 


บริษัทเริ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2562 จากการมีกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากการใช้ระบบสายพานลำเลียงในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 และการมีเครื่องจักรใหม่ในโครงการเหมืองหงสาที่มีความพร้อมใช้งาน ในขณะที่ผลการดำเนินงานในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7ยังคงขาดทุนจากค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรเก่า แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว อัตราส่วนกำไรของบริษัทเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 38% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562

 

 

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาเมื่อระบบสายพานลำเลียงในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ทำงานได้อย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณาจากมูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบในปัจจุบันแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 อัตราส่วนกำไรจะรักษาระดับอยู่ที่ 35%-40% และเงินทุนจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-1,200 ล้านบาทต่อปี

 

 

ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง

อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง กล่าวคือ บริษัทต้องซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ในการเริ่มงานโครงการใหม่แต่ละโครงการ ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7,966 ล้านบาทในปี 2561 จาก 5,145 ล้านบาทในปี 2560 และ 2,513 ล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 78% ณ สิ้นปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 41% ในปี 2559 ซึ่งระดับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องมาจากการลงทุนใหม่ในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 8 ซึ่งบริษัทต้องลงทุนประมาณ 7,200 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 7,743 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562

 

 

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าโดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินสดที่ต่ำกว่าคาดจากโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 และระยะที่ 8 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 70%-77% ในช่วงปี 2562-2564 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 15%-20% ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า

 

 

สภาพคล่องและข้อกำหนดทางการเงินอยู่ในระดับตึงตัว
บริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัว โดยบริษัทมีเงินสดจำนวน 201 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 และมีวงเงินกู้ยืมระยะยาวที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 48 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่ภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระมีจำนวน 2,418 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 941 ล้านบาทและเงินกู้ยืมโครงการจำนวน 1,477 ล้านบาท บริษัทจะชำระคืนเงินกู้ยืมโครงการด้วยเงินสดที่ได้รับตามความก้าวหน้าของโครงการ ในขณะที่เงินกู้ยืมระยะสั้นนั้นบริษัทจำเป็นจะต้องต่ออายุต่อไปเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคาร

 

 

บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ส่วนที่เหลือโดยบริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าเอาไว้ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดในโครงการเหมืองแม่เมาะ ระยะที่ 7 และระยะที่ 8 นั้นส่งผลทำให้อัตราส่วนทางการเงินของบริษัทตึงตัวจนอาจไม่สามารถรองรับภาวะขัดข้องทางการเงินได้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ ที่กลับมาดีขึ้นและสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้

 

 

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
+ รายได้ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
+ อัตราส่วนกำไรคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35%-40%
+ เงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า

 

 

แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในฐานะผู้รับเหมางานเหมืองเอาไว้ได้ทั้งงานจากภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ตลอดอายุสัญญาจ้างงานและควบคุมต้นทุนได้จนจบแผนงาน ซึ่งจะทำให้บริษัทรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับเกินกว่า 35% ได้ ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 15%-20% ภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะค่อย ๆ ลดลงตามความก้าวหน้าของโครงการ ซึ่งภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงจะได้รับการชดเชยด้วยกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากโครงการ

 

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่คาดไว้ ยิ่งไปกว่านั้น อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบในด้านลบหากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 15% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง อันดับเครดิตยังไม่มีแนวโน้มที่จะมีการปรับเพิ่มในอนาคตอันใกล้เนื่องจากภาระหนี้คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตจะมีการปรับเพิ่มขึ้นได้หากกระแสเงินสดของบริษัทปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบันพร้อมกันกับการลดลงของภาระหนี้

 

 

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 31 ตุลาคม 2550

 

 

บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (SQ)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

 

SQ

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้