
HotNews : NWR รับงานรัฐชะลอ - LTV กระทบ ยอมหั่นรายได้ปีนี้เหลือทรงตัว
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (13 มิถุนายน 2562) NWR หั่นเป้ารายได้ปี 62 เป็นทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมตั้งเป้าโต 30-50% เหตุงานรัฐฯชะลอตัว ลุยประมูลงานใหม่ 1.6 หมื่นลบ. หวังได้ 15% จากปัจจุบันตุน backlog 2 หมื่นลบ. รับรู้ปีนี้ 7 พันลบ.

นายปสันน สวัสดิ์บุรี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสแผนกธุรกิจใหม่ และวางแผนกลยุทธ์ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR เปิดเผยว่า บริษัทฯ ปรับลดเป้าหมายรายได้ปี 2562 เป็นทรงตัวจากปีก่อน จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายเติบโต 30-50% จากปี 2561 ที่บริษัทฯ ที่มีราย ได้อยู่ที่ 10,444.45 ล้านบาท เนื่องจากงานประมูลที่จะออกมาใหม่มีและงานเก่าที่ต้องมีการเซ็นสัญญามีความล่าช้า จากความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงครึ่งปีแรก
ซึ่งทำให้การอนุมัติงบประมาณรวมถึงการอนุมัติโครงการต่างมีความไม่ต่อเนื่อง ส่งผลต่อการรับรู้รายได้ของบริษัทฯ ประกอบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 จึงทำให้บริษัทฯ มีการปรับเป้าหมายรายได้ในกลุ่มธุรกิจนี้เหลือ 500 ล้านบาท จากเดิมที่มีการประมาณการไว้ที่ 800 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดโครงการ "เอสเพน คอนโด ลาซาล C" ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม มูลค่าโครงการประมาณ 820 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการดำเนินการก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสร้างเสร็จและพร้อมโอนได้ในช่วงไตรมาส 4/2563

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) แล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทฯมีงานที่เตรียมจะเสนอราคาและเสนอราคาไปแล้วบางส่วนแต่ยังต้องรอความชัดอยู่อีกประมาณ 16,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ คาดสัดส่วนได้งานที่ 15%
โดยในส่วนของงานโครงการ รถไฟฟ้าไทย-จีน และโครงการท่างด่วนสายพระราม 3 - ดาวคะนอง มูลค่ารวมทั้ง 2 โครงการประมาณ 4,800 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทฯ ชนะการเข้าประมูลแล้ว โดยการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ซึ่งบริษัทฯ คิดว่ายังคงเป็นราคาที่เหมาะกับต้นทุน โดยงานโครงการรถไฟฟ้านั้น บริษัทฯ คิดว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ NWR ได้ทำงานเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้ามากขึ้น เพราะคาดว่าน่าจะมีงานประเภทนี้ออกมามากขึ้นในอนาคต

ส่วนของธุรกิจอาหาร ขณะนี้บริษัทฯ มีการขายอาหารสำเร็จรูป ประเภทซุปและซอส และมีการเปิดร้านอาหารภายใต้ชื่อ "ใบบัว" บนพื้นที่สีลมและลาซาล ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะเปิดร้านอาหารอิติเลียน 1 สาขา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตกแต่งร้าน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และสามารถเปิดให้บริการได้ในปีนี้
ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งรัฐมนตรีคณะเดิมซึ่งน่าจะทำให้การบริหารโครงการมีความต่อเนื่องมากขึ้น รวมไปถึงการอนุมัติงบประมาณและโครงการต่างๆ น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4

สำหรับความคืบหน้าคดีฟื้นฟูกิจการ คดีหมายเลขแดงที่ พก 14/2560 ให้ บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จํากัด (มหาชน) PE ชําระหนี้ให้บริษัทฯ ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจาก 2 แนวทาง ได้แก่
1. รอคำสั่งศาลฏีกาซึ่งจะเป็นไปตามกระบวนการของศาล
2. รอให้กรมสรรพากรเป็นผู้บังคับคดี ซึ่งจะมีการอายัดหุ้นสามัญของ บริษัท พรีเมียร์อินเตอร์ลิซซิ่ง จํากัด (บริษัทย่อยของบริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จํากัด (มหาชน) จํานวน 15,660,129 หุ้นที่บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จํากัด (มหาชน) ถือครองอยู่ โดยจะนำหุ้นดังกล่าวไปขาย ทอดตลาดและนําเงินที่ขายได้มาชําระคืนบริษัทต่อไป

NWR ชนะคดี PE หากได้รับเงินมาถือเป็นรายได้หนี้สูญรับคืน
นางสาวผกาทิพย์ โลพันธ์ศ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จํากัด (มหาชน) ("บริษัท") NWR เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์คดี ชํานัญพิเศษได้มีคําพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีฟื้นฟูกิจการ คดีหมายเลขแดงที่ พก 14/2560 ให้ บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จํากัด (มหาชน) ชําระหนี้ให้บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จํากัด (มหาชน) ดังนี้
1. ชําระต้นเงิน 473,466,980.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยคํานวณจนถึงวันที่ 2 เมษายน 2555 จํานวน 363,754,111.07 บาท รวม เป็นเงิน 837,221,091.68 บาท และ
2. ชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 473,466,980.61 บาท นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่า จะได้ชําระเสร็จสิ้น
อนึ่ง บริษัทได้มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ในงบการเงินของบริษัทก่อนปี 2548 เป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 650,797,184.99 บาท เต็มตามจํานวนหนี้ที่ค้างชําระและหากบริษัทได้รับเงินมาก็จะถือเป็นรายได้หนี้สูญรับคืนต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทได้ ยื่นเรื่องต่อกรมบังคับคดีแจ้งอายัดหุ้นสามัญของ บริษัท พรีเมียร์อินเตอร์ลิซซิ่ง จํากัด (บริษัทย่อยของบริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จํากัด (มหาชน) ) จํานวน 15,660,129 หุ้นที่บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จํากัด (มหาชน) ถือครองอยู่ หุ้นดังกล่าวต้องนําไปขาย ทอดตลาดและนําเงินที่ขายได้มาชําระคืนบริษัทต่อไป

เทพดีบีเอส ปรับมุมมอง NWR เป็นให้ ถือ แทน ขาย หลังราคาดิ่ง - ลดเป้าเหลือ 90 สตางค์
บทวิเคราะห์ บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดีแพ่งให้บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ (PE) ต้องจ่ายเงินให้ NWR คดีเกี่ยวกับฟื้นฟูกิจการ ตามสัญญาจ้างเหมาช่วงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียกรุงเทพฯในช่วงปี 46-54 จากการคำนวณพบว่าจะได้รับ 2 ก้อนคือ เงินต้นบวกดอกเบี้ย 837 ล้านบาท ถึง 2 เม.ย.55 และดอกเบี้ยอีก 1 ก้อนของเงินต้น 473.5 ล้านบาท ในอัตรา 7.5% ตั้งแต่ 3 เม.ย.55-เม.ย.62 หรือราว 7 ปี ที่ 249 ล้านบาท รวมเป็น 1,086 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.42 บาทต่อ 1 หุ้น NWR และคิดเป็น 52% จากราคาปิดปัจจุบัน แต่ PE มีสิทธิ์ฟ้องฎีกาต่อไป ซึ่งปกติ NWR จะได้รับเงินก็ต่อเมื่อศาลฯมีการบังคับคดี นั่นคือคำตัดสินได้สิ้นสุดลงแล้ว วานนี้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรับข่าว 2.53%
แนวโน้มกำไร 2Q62 NWRไม่สดใส ต่อเนื่องจาก 1Q62 นั่นคือรายได้ยังมาช้าและบันทึกผลประโยชน์พนักงานที่ทำงานมากกว่า 20 ปี ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 400 วัน จากเดิมสูงสุดที่ 300 วัน ซึ่งบริษัทคาดว่าจะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ขณะที่ฐานเปรียบเทียบ y-o-y เป็นขาดทุน (Core Losses) ที่ -28 ล้านบาท และเป็นขาดทุนสุทธิ -5 ล้านบาท ด้านผลการดำเนินงาน 1Q62 ที่ผ่านมาพบว่ามีขาดทุน (Core Losses) ทั้งจากการดำเนินงาน และขาดทุนสุทธิที่ 28 ล้านบาท ในงวด 2H62 ต้องติดตามว่างานก่อสร้างรถไฟฟ้าจะล่าช้าไหม ได้แก่งานรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู รับเหมาช่วงมาจาก STEC ซึ่งในช่วง 1H62 ใช้เวลาเตรียมงาน รวมทั้งรายได้จากบริษัทย่อยคือ แอดวานซ์ พรีแฟบ ซึ่งปีนี้คาดว่าจะพลิกมาเป็นกำไร หลังปี 61 ยังขาดทุน แต่ข้อดีคือ บริษัทมีโอกาสจะได้งานก่อสร้างใหม่ๆเพิ่ม
รอลงนามในสัญญาก่อสร้างใหม่ ขนาดใหญ่ ได้แก่งานทางด่วนพระราม 3 -ดาวคะนอง ในสัญญาที่ 1 มูลค่าประมาณ 6-7 พันล้านบาท โดยจับมือกับ บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด และงานก่อสร้างโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 1 สัญญา มูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาท คาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะประกาศผลอย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีงานก่อสร้างในมือที่ 16 พันล้านบาท

ปรับประมาณการลงทั้งปีนี้และปี 63 สำหรับกำไรหลักในอัตรา 7% และ 18% ตามลำดับ สมมุติฐานที่ด้อยลงคือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายขาย-บริหารเทียบกับรายได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.5% ทั้งสองปี จากเดิมที่ 5.6% และ 5.4% ตามลำดับ ยังผลให้อัตราการเพิ่มเทียบ y-o-y ปีนี้และปี 63 เป็น +31%/+3% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะลดลงถึง 78% y-o-y เพราะฐานปี 61 มีกำไรพิเศษชนะคดีความบันทึกมากถึง 310 ล้านบาท แต่ปี 63 กลับเพิ่มก้าวกระโดดถึง 60% y-o-y ก็เพราะฐานปีนี้มีบันทึกสำรองค่าชดเชยพนักงานทำงาน 20 ปี ถึง 50 ล้านบาท แต่ปี 63 ไม่มี
"ปรับเพิ่มคำแนะนำ NWR เป็น ถือ จากเดิม ขาย หลังราคาหุ้นได้ปรับลงมาแล้ว ทั้งนี้หลังปรับประมาณการลง ราคาพื้นฐานใหม่ต่ำลงมาเป็น 0.90 บาท (เดิม 1.07 บาท) ซึ่งประเมินด้วย P/BV ปี 62 ที่ 0.6 เท่า ราคาปิดมีส่วนเพิ่มได้อีกราว 11% สำหรับราคาหุ้น บริษัทอาจจะมีความผันผวนตามข่าวความคืบหน้าการได้เงินชดเชยจาก PE และการได้งานก่อสร้างใหม่เพิ่มหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลไทยสำเร็จแล้ว"บทวิเคราะห์ระบุ
NWR