Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : TPLAS ไร้กังวล-พร้อมรับมือ หลังรัฐออกมาตรการลด-เลิกใช้พลาสติก (แก้ไข)

2,412

HotNews : TPLAS ไร้กังวล-พร้อมรับมือ หลังรัฐออกมาตรการลด-เลิกใช้พลาสติก

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (19 เมษายน 2562) TPLAS บอกผู้ถือหุ้น - นักลงทุน ไม่ต้องกังวล หลังรัฐออกมาตรการลด-เลิกใช้พลาสติก  ระบุพร้อมรับมือเตรียมออกโปรดักส์ใหม่ ศึกษาธุรกิจใหม่ คาดชัดเจนเร็วๆนี้  ส่งซิกผลงานปี 62 โตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน หลังปรับกลยุทธ์ขยายช่องทางผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่ม เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดเริ่มจำหน่าย Q3/62 เผยอาคารโรงงานใหม่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดแล้วเสร็จต้นปี 63 ดันกำลังการผลิตพุ่งไม่ต่ำกว่า 30% 

 

นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายผลการดำเนินงานในปี 2562 เติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 558.22 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 23.83 ล้านบาท

 

 

ซึ่งเป็นผลให้บริษัทฯสามารถที่จะทำสถิติใหม่รายได้ในปีนี้สูงขึ้นกว่าที่เคยทำมา หลังจากที่บริษัทฯมีการปรับทิศทางกลยุทธ์ ในการวางแผนเชิงรุก เพื่อขยายและเพิ่มช่องทางผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือ โปรดักส์ไลน์ ซึ่งเป็นประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมา ล่าสุด บริษัทฯเตรียมที่จะนำ โปรดักส์ไลน์ใหม่ เริ่มทดลองตลาด เพื่อดูดีมานด์ ความต้องการของผู้บริโภคว่า มีปริมาณความต้องการใช้ บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากน้อยเพียงใด โดยบริษัทฯยังคงเน้นทำการตลาด ผ่านช่องทางการเจาะกลุ่มหลัก คือ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้กับ กลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าปลีก ในลำดับต่อไป

 



ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่า ภายในไตรมาส 2/2562 นี้ บริษัทฯจะเสร็จสิ้นการทดสอบตลาด และ จะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 3/2562 รวมถึงมีแผนที่จะเจาะตลาดไปยังกลุ่มโมเดอร์นเทรด กลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม กลุ่มอุตสาหกรรม ประเภทอาหาร เพื่อเพิ่มวอลุ่มและขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์และตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ มากที่สุด เนื่องจากมองว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ยังคงมีความต้องการใช้สูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังเป็นสินค้าที่สามารถนำมาทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมๆที่มีอยู่ในท้องตลาดได้

 

 

สำหรับแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ ในครั้งนี้ ทาง TPLAS จะให้ความสำคัญ ในเรื่องของ Green Concept เป็นหลักโดยเฉพาะ บรรจุภัณฑ์ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุย่อยสลายได้ โครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ความแข็งแรงมีคุณภาพดี ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ และ สะดวกต่อการใช้งาน

 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เป็นหลัก พร้อมทั้งเชื่อว่า โปรดักส์ไลน์ บรรจุภัณฑ์ใหม่ชนิดนี้ จะสามารถเข้าต่อยอด และเพิ่มยอดขายให้กับ TPLAS ได้อย่างเติบโตและยั่งยืนในอนาคต เนื่องจาก บริษัทฯความลดความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นได้หลังจากที่ผู้บริโภคหันมารณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก โดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ด้านบรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 

“ต้องยอมรับว่า ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่มีการหันมาณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนการลดใช้ถุงพลาสติกนั้น บริษัทฯเองในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร และ ถุงหูหิ้ว ประเภทพลาสติก ก็ไม่นิ่งนอนใจ ในการเร่งปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อภาพรวมทางธุรกิจ ดังนั้นจึงอยากฝากถึงผู้ถือหุ้นและนักลงทุนว่า ไม่ต้องกังวลต่อปัญหาดังกล่าว เนื่องจาก TPLAS มีแผนในการรองรับต่อกรณีดังกล่าวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการออกโปรดักส์ใหม่ รวมถึงแผนการศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไว้อยู่แล้ว โดยคาดว่าจะเห็นได้ในเร็วๆนี้ ” นายธีระชัย กล่าว

 

 

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการขยายพื้นที่อาคารสำนักงานบริษัทฯนั้น ล่าสุด การก่อสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงจะสามารถควบคุมการทำงานให้มีศักยภาพ และมีระบบในการดำเนินงานและจัดเก็บเอกสาร ได้มากยิ่งขึ้น ส่วนอาคารโรงงานใหม่ และการติดตั้งเครื่องจักรใหม่

 

 

สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งหากโรงงานดังกล่าวแล้วเสร็จ จะส่งให้บริษัทฯมีความสามารถรองรับกำลังการผลิตเพิ่ม ได้มากเกือบเท่าตัว หรือไม่น้อยกว่า 30% ปัจจุบันกำลังการผลิตรวมถุงพลาสติกประมาณ 10,200 ตันต่อปี และกำลังการผลิตฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ประมาณ 1,440 ตันต่อปี รวมถึงยังสามารถผลิตไลน์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

SCB EIC แนะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทย รับมือผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ที่ย่อยสลายได้ หลังรัฐออกมาตรการลด-ยกเลิกใช้พลาสติก

 

 

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกที่มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่องโดยไทยติดอันดับ 6 ของโลก ที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด คิดเป็นปริมาณราว1.3 ล้านตันต่อปี ทำให้ในปี 2018 ภาครัฐ จึงได้ออกมาตรการลดและยกเลิกการใช้พลาสติกซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ - อีไอซีมองว่า ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทย ควรรับมือด้วยการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น bioplastic ซึ่งเราได้เริ่มเห็นเทรนด์การเพิ่มสัดส่วนการผลิตbioplastic และลดสัดส่วนการผลิตพลาสติกที่ยากต่อการนำมา recycle ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

 

 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อาจหาช่องทางในการผลิตผลิตภัณฑ์หรือภาชนะที่สามารถย่อยสลายได้ชนิดอื่นทดแทนพลาสติก เช่น หลอดดูดน้ำจากสาหร่ายทะเลหรือผลิตจากข้าว ช้อนกินได้จากแป้งสาลี เป็นต้น

 


ขยะพลาสติกถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำทั่วโลกประมาณปีละ 8 ล้านตัน โดยไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก Ocean Conservancy ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ศึกษาเรื่องการรักษาทรัพยากรทางทะเลคาดการณ์ว่า ขณะนี้ มีขยะพลาสติกไหลเวียนอยู่ในมหาสมุทร ทะเล และแหล่งน้ำทั่วโลกถึงกว่า 150 ล้านตัน สะสมต่อเนื่องจากปี 1950 ซึ่งปริมาณขยะดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกจากการจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่ได้ประสิทธิภาพและอัตราการนำพลาสติกไปรีไซเคิลที่ต่ำโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เป็นผลให้ขยะพลาสติกจำนวนมากไหลลงแหล่งน้ำ ออกสู่ทะเลและมหาสมุทรในที่สุด

 

 

สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษประมาณการว่า ขยะพลาสติกในไทยมีประมาณปีละมากกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกกำจัดหรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ก็มีอีกราว 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล ทั้งนี้จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์เจียในปี 2015 พบว่าประเทศไทยจัดเป็นอันดับ 6 ที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดรองจาก จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา ซึ่งขยะพลาสติกของไทยที่พบได้มากที่สุดในทะเล ได้แก่ ถุง(13%) หลอด(10%) ฝาพลาสติก (8%) และภาชนะบรระจุอาหาร(8%)

 

 


เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งจำนวน 7 ชนิดภายในปี 2025 ซึ่งภาคเอกชนไทยได้เริ่มยกเลิกการใช้พลาสติกไปแล้วเช่นกัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2018 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกได้พิจารณาแผนปฏิบัติการลดและเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) จำนวน 7 ชนิด โดยวางเป้าหมายเป็นช่วงเวลา ระหว่างปี 2019-2025 ดังนี้คือ ยกเลิกปี 2019 ประกอบด้วย 1) Cap seal ฝาน้ำดื่ม โดยปกติจะผลิตจากพลาสติก PVC ฟิล์ม 2) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารประเภท OXO ส่วนใหญ่มักจะผสมในพลาสติกประเภท HDPE และ LDPE 3) Microbead จากพลาสติก ส่วนผลิตภัณฑ์ที่จะยกเลิกปี 2022 ประกอบด้วย 4) ถุงพลาสติกหูหิ้ว ขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก LLDPE 5) กล่องโฟมบรรจุอาหาร ในส่วนของพลาสติกที่จะยกเลิกในปี 2025 ได้แก่ 6) แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และ 7) หลอดพลาสติก

 

 

ซึ่งทั้งกล่องโฟม แก้ว และหลอดพลาสติกบางส่วน ส่วนใหญ่จะผลิตจากพลาสติกประเภท polystyrene ในขณะที่ ภาคเอกชนไทยบางส่วนได้เริ่มยกเลิกการใช้พลาสติกแล้ว ตัวอย่างเช่น เครือ Anatara ที่เริ่มยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2018 เป็นต้นไป ตามนโยบายลดขยะพลาสติกของโรงแรม นอกจากนี้ร้านกาแฟ Starbucks ที่มีสาขาทั่วโลก ได้ประกาศเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2018 ที่จะเลิกใช้หลอดพลาสติกของทุกร้านภายในปี 2020 จากการกำหนดเป้าหมายยกเลิกการใช้พลาสติกทั้ง 7 ชนิด พลาสติก LLDPE จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากถูกนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติก และฟิล์มสำหรับบรรจุภัณฑ์กว่า 55% ของการนำ LLDPE ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

 

 


นอกจากนี้ LLDPE ยังเก็บเข้าสู่ระบบจัดการขยะยาก เพราะ LLDPE เป็นพลาสติกประเภทฟิล์มที่มีความอ่อนตัว เป็นอุปสรรคต่อการกำจัดเนื่องจากพลาสติกอ่อนนี้ติดอยู่ในล้อและเกียร์ ซึ่งสามารถทำลายเครื่องจักรสำหรับคัดแยกขวดกระป๋องและกระดาษในโรงงานแยกขยะ อีกทั้งยังยากต่อการนำกลับมาผลิตใหม่ เนื่องจากการนำไปใช้ครั้งแรกจะมีการพิมพ์ข้อมูลผลิตภัณฑ์และโลโก้บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจากนโยบายลดและยกเลิกการใช้พลาสติกของไทย รวมถึงของต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป จีน และออสเตรเลีย คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลาสติก LLDPE มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงจากที่เคยเติบโตราว 5% ต่อปี ระหว่างปี 2010-2017 เหลือเพียง 1% ต่อปี

 


นอกจากนี้ ต้นทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากต้องหาวัตถุดิบชนิดใหม่มาใช้ทดแทนพลาสติกของเดิมที่ถูกยกเลิกไป โดยจำเป็นต้องใช้งานได้เทียบเคียงวัสดุเดิมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้นทุนการผลิตหลอดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้เองจะสูงกว่าต้นทุนหลอดพลาสติกแบบดั้งเดิมอยู่ราว 1 เท่า นอกจากต้นทุนวัตถุดิบแล้ว ผู้ผลิตอาจต้องลงทุนในด้าน R&D เพื่อพัฒนาวัสดุที่เหมาะกับการใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการจะผลิตเอง อีกทั้งอาจต้องลงทุนในด้านการสื่อสารทางการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงคุณสมบัติโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์อีกด้วยฃ

 


อย่างไรก็ตาม การห้ามใช้ single-use plastic สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่สามารถรีไซเคิลพลาสติกประเภท PET เพราะเป็นพลาสติกประเภทนำมาผลิตใหม่ได้ (re-material) เช่น พลาสติกประเภท PET ที่นำไปผลิตขวดน้ำดื่มพลาสติก สามารถนำไปผ่านกระบวนการ Depolymerization เพื่อให้แตกตัวเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือ monomer ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็น polymer เพื่อสร้างเป็นพลาสติกใหม่ได้ หรือที่เรียกกระบวนการนี้ว่า Repolymerization

 

 

โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้ขวดน้ำพลาสติกถูกนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกเป็น 100 ครั้ง การเก็บพลาสติกชนิดดังกล่าวกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ หรือการนำมาใช้ซ้ำ จึงสร้างโอกาสให้ทั้งผู้ผลิตพลาสติก PET รวมถึงธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก PET ดังจะเห็นได้จากบริษัท Loop Industry, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่มีความชำนาญด้านการรีไซเคิลพลาสติก PET โดยมีนวัตกรรมของตัวเองในการผลิตพลาสติกโพรีเอสเตอร์เรซินที่มีความบริสุทธิ์สูงพอที่จะนำไปใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ทั้งนี้ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลก ได้ร่วมหุ้นกับบริษัทดังกล่าวผ่านบริษัทย่อยของตนในสหรัฐฯ เพื่อตั้งบริษัท Indorama Loop Technologies, LLC โดยคาดว่าจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาผลิตบรรจุภัณฑ์ให้แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกได้ราวไตรมาสแรกของปี 2020

 


อีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการควรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการผลิตพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น bioplastic และเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก ปัจจุบันมีพลาสติกเพียงประเภทเดียวที่สามารถนำกลับมา re-material ใหม่ได้ คือ PET ส่วนพลาสติกประเภทอื่นยังไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ดีเท่า PET ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมีย่อมได้รับผลกระทบจากเทรนด์และมาตรการยกเลิกการใช้พลาสติก ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่จะต้องหาวัตถุดิบเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น bioplastic ที่ทำมาจากอ้อย และมันสำปะหลัง

 

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น 1 เท่าเป็นอย่างน้อยจากการเปลี่ยนไปผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจส่งผ่านไปยังผู้ซื้อได้บ้าง เช่น ผู้ซื้อในกลุ่มร้านอาหารที่ใช้หลอด กล่องใส่อาหารพลาสติก หรือร้านค้าปลีกที่ใช้ถุงพลาสติก ซึ่งจะต้องรับมือกับราคาของบรรจุภัณฑ์จากวัสดุใหม่ที่สูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตแบบ non-plastic เช่น กระดาษ ข้าว สามารถหาช่องทางในการเจาะเข้าสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารได้ เช่น ถุงกระดาษใส่น้ำตาล หลอดที่ทำจากข้าวหรือกระดาษ เป็นต้น

 


โดย : ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล (Nattanan.apinunwattanakul@scb.co.th) นักวิเคราะห์


Economic Intelligence Center (EIC)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
EIC Online: www.scbeic.com
Line: @scbeic


โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประจำวันที่ 18 เม.ย. 2562

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

แนวรบเก็งกำไร By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ แม้สภาพตลาดหุ้นไทย นักลงทุน ยังไม่กลับมา แต่สำหรับแนวรบ หุ้นเก็งกำไร ......

พีทีจี เอ็นเนอยี ส่ง ออโต้แบคส์ เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 เตรียมประกาศความพร้อมการแข่งขัน PT Maxnitron Racing Series 2024

พีทีจี เอ็นเนอยี ส่ง ออโต้แบคส์ เข้าร่วมงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 เตรียมประกาศความพร้อมการแข่งขัน PT Maxnitron Racing..

มัลติมีเดีย

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

NER กางปีก..รับราคายางพาราพุ่ง - สายตรงอินไซด์ - 18 มี.ค.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้