Today’s NEWS FEED

สัมภาษณ์/รายงานพิเศษ

สัมภาษณ์พิเศษ : เจาะโมเดลธุรกิจ ZEN มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจ Food Service

6,758

สัมภาษณ์พิเศษ : เจาะโมเดลธุรกิจ ZEN มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจ Food Service

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ ( 8 กุมภาพันธ์ 2562)------สัมภาษณ์พิเศษ วันนี้จะพานักลงทุนทุกท่าน ไปรู้จักกับหุ้น IPO "บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN " ผู้นำธุรกิจด้านอาหาร ที่มีแบรนด์ร้านอาหารไทยและญี่ปุ่นชั้นนำในเครือทั้งหมด 12 แบรนด์ ที่เตรียมจะเข้ามาเทรดในกระดาน SET ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นี้แล้ว เส้นทางการเติบโตของ ZEN ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี จะเป็นอย่างไร และอะไรเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำให้ ZEN ประสบความสำเร็จจนถึงวันที่พร้อมจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ขอเชิญคุณผู้อ่านพบกับมุมมองของ "บุญยง ตันสกุล" แม่ทัพใหญ่ ZEN ที่จะเปิดโรดแมพถึงเส้นทางการเติบโต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายผู้นำธุรกิจ Food Service .............

 

 

Q: อยากให้คุณบุญยง ฉายภาพธุรกิจของ ZEN ว่าการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเซ็นมีโครงสร้างธุรกิจอย่างไรบ้างคะ

คุณบุญยง ตันสกุล : ต้องบอกว่าบริษัทฯ อยู่ในธุรกิจอาหารมาเกือบ 30 ปี ในอดีตที่ผ่านมาโครงสร้างธุรกิจก็จะอยู่ในธุรกิจอาหารญี่ปุ่น ปัจจุบันนี้เรามีทั้งหมด 12 แบรนด์ ก็จะมีทั้งที่เป็นแบรนด์ไทย แบรนด์ญี่ปุ่น 6 แบรนด์ไทย 6 แบรนด์ญี่ปุ่น ผมคิดว่าหลายๆ ท่านก็คงรู้จักดีของแบรนด์ญี่ปุ่นก็ เซ็น, อากะ, ออนเดอะเทเบิ้ล, เท็ตสึ, ซูชิชู และมุฉะ ส่วนของแบรนด์ไทยก็ ตำมั่ว ลาวยวน แจ่วฮ้อน เฝอ เดอตำมั่ว ตัวสุดท้ายคือเขียง ทั้งหมด 12 แบรนด์

 

แต่ปัจจุบันนี้เซ็น ไม่ใช่ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นอย่างเดียว เป็นธุรกิจเกี่ยวกับฟู้ดเซอร์วิส (Food Service) เราแบ่งกลุ่มธุรกิจออกมาเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือที่เราเรียกว่าฟู้ดเซอร์วิส ก็จะมีตั้งแต่การขายสินค้าที่เป็นธุรกิจค้าปลีกผ่านช่องทางของร้านเราเองร้านอาหารไทย เข้าไปในช่องทางของพวกที่เป็นโมเดิร์นเทรด พวกที่เป็นดิสเคาท์สโตร์ พวกที่เป็นร้านขายของฝาก อีกกลุ่มหนึ่งก็คือเป็นธุรกิจเดลิเวอรี่และแคทเทอริ่ง สุดท้ายก็คือกลุ่มธุรกิจที่รับปรึกษาและบริหารจัดการเรื่องร้านอาหาร นี่คือโครงสร้างปัจจุบันคือแบ่งเป็น 3 กลุ่มภายใต้ธุรกิจอาหารที่เราปรับวิชั่นจากที่เคยเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างเดียว ก็เป็นธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ครับ

 

 

Q:จุดเด่นของธุรกิจFood Service คืออะไรบ้างคะ ทำไมถึงมารุกธุรกิจนี้

คุณบุญยง ตันสกุล : ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็นเดลิเวอรี่ จากอดีตนั้นเราไม่เคยโฟกัสในสัดส่วนของธุรกิจเดลิเวอรี่เลย แต่ในปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเราเห็นถึงการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยแล้วปีนึง 10 กว่าเปอร์เซ็น ทำไมเราถึงมองกลุ่มธุรกิจอาหารที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตาม
พฤติกรรมของผู้บริโภค ในธุรกิจเดลิเวอรี่ปัจจุบันนี้สามารถที่จะไปทำให้พฤติกรรมการขายนี้เริ่มเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เดี่ยวนี้ก็สั่งอาหารก็สั่งผ่านออนไลน์ สั่งเดลิเวอรี่มากขึ้น ต้องการความถูกและเร็วดี ตัวเดลิเวอรี่เราเพิ่งเริ่มทำเมื่อปลายปีที่แล้ว ปีที่แล้วนี้เราก็ผ่านเป็นเอาท์ซอร์ทเป็นเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่เราได้ยินทั่วไป คือของฟู้ดแพนด้า แกร๊บ ไลน์แมน ออนเนสบี แต่ปัจจุบันเรามีแผนที่จะลงทุนเอง โดยที่จะทำคอลเซ็นเตอร์เอง และจะเปิดร้านอาหารที่เน้นไม่ได้ขายหน้าที่เค้าเรียกว่าเดลโก้ จะเปิดร้านอาหารที่ทำเฉพาะเมนูเดลิเวอรี่อย่างเดียว นั่นคือธุรกิจในส่วนของเดลิเวอรี่

 

ขณะเดียวกันเราก็มีธุรกิจแคทเทอริ่ง จะเห็นว่าหลักๆก็คือโรงแรมจะเก่งด้านนี้ แต่ว่าปัจจุบันนี้เราอาศัยความที่เรามีแบรนด์ทั้งแบรนด์ไทย แบรนด์ญี่ปุ่น มีอาหารที่หลากหลายครอบคลุมทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารไทย อาหารเวสเทิร์น และอาหารประเภทเหล่านี้ก็สามารถนำมาทำแคทเทอริ่งได้ มีทดลองทำไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เน้นกลุ่มที่มีการประชุมสัมมนา เราก็จัดอาหารกล่องเข้าไป รวมทั้งที่มีกิจกรรมสังสรรค์งานเลี้ยงเราก็เอาแบรนด์ต่างๆเข้าไปทำเป็นบูท ก็ได้รับการตอบรับดีมาก

 

ส่วนฟู้ดเซอร์วิสอีกกลุ่มหนึ่งก็คือธุรกิจค้าปลีก เรามีร้านอาหารตำมั่วอยู่ เครื่องปรุงต่างๆ ที่ลูกค้าเข้าไปทาน ได้รับความนิยมมาก มีความสนใจที่อยากจะซื้ออาหารเหล่านี้ไปทำเองทานที่บ้าน หรือไม่ก็เวลาไปปิ๊กนิ๊กก็จะเอาไปด้วย ก็จะมีทั้งหมด 10 เอสเคยู แบ่งประเภทเป็นก็จะมีน้ำปลาร้าก็จะมีหลายรสชาติ รสดั้งเดิม รสเข้มข้น พวกที่เป็นแจ่วบอง รวมทั้งพวกที่เป็นน้ำจิ้มแจ่ว บะหมี่สำเร็จรูป เป็นเมนูที่เราขายดีมาก คือหมี่มั่ว พวกนี้เราเอามาทำเป็น ready to eat / ready to cook สินค้าพวกนี้ถ้าเราดูในร้านค้าปัจจุบัน ทั้งร้านสะดวกซื้อเอง หรือในพวกที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง เดี่ยวนี้ได้รับความนิยมมาก เราเองก็มีทีมเฉพาะที่มาโฟกัสเรื่องสินค้าที่เรามีอยู่ เมื่อก่อนเคยขายเฉพาะที่หน้าร้านได้รับการตอบรับดี เรามีร้านทั้งหมด 255 สาขา และใน 255 สาขานี้ก็มี100 กว่าสาขา ที่เป็นร้านของแบรนด์ไทยที่เราขายอาหารประเภทนี้อยู่ ก็มียอดขายเติบโตมาก เมื่อประมาณช่วงต.ค.ที่ผ่านมา ก็ไปขายช่องทางแมคโครในทุกสาขา เห็นโอกาสของการเติบโต ก็จะมีแผนเข้าไปขยายช่องทางมากขึ้นผ่านช่องทางดิสเคาท์สโตร์

 

ส่วนธุกิจที่เกี่ยวกับเรื่องของรับเป็นที่ปรึกษาหรือรับบริหารร้านอาหาร เราเองก็หลังจากที่อยู่ในธุรกิจนี้มาก็มีลูกค้าหลายรายเข้ามาขอคำปรึกษาหารือในเรื่องของการเข้าไปบริหารร้านอาหาร ทั้งในส่วนที่เป็นร้านอาหารในโรงแรม หรือร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์การค้า รวมทั้งกลุ่มธุรกิจลูกค้าแฟรนไชส์เอง เนื่องจากเรามีผู้บริหารที่มีความรู้ในธุรกิจอาหารมากว่า 20 ปี ทีมผู้บริหารเราจะมีทั้งทีมที่เป็นฟาวเดอร์กับทีมที่เป็นแอคเพอร์ทิส คือจากคนนอก ผู้บริหารเหล่านี้มีทักษะมีความรู้มีความชำนาญ เราก็มองว่าสิ่งที่เรามีอยู่ นอกจากที่เราบริหารร้านอาหารเราแล้ว เราก็ไปช่วยพัฒนาร้านของแฟรนไชส์ ทำไมเราถึงไม่เอาความรู้เหล่านี้มาพัฒนาร้านอาหารนอกเครือด้วย เพราะว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เราเรียกว่าฟู้ดเซอร์วิส เพื่อจะมาต่อยอดจากร้านอาหารเดิมที่เรามีอยู่ให้มันเกิดเป็นธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จะเห็นว่าถ้ามองตัวเราเป็นธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส การขยายธุรกิจอาหารก็จะมีความยืดหยุ่น ความคล่องตัว ความรวดเร็ว อันนี้คือการสร้างโอกาสของกลุ่มเซ็นก็จะเน้นไปเรื่องของฟู้ดเซอร์วิสมากขึ้น

 

 


Q: สัดส่วนรายได้ของFood Service เป็นอย่างไรคะ

คุณบุญยง ตันสกุล : ถ้าเราเทียบในธุรกิจร้านอาหารเอง ตัวสัดส่วนของ 3 กลุ่มนี้ยังมีไม่มาก เพราะเราเพิ่งเริ่มเมื่อช่วงครึ่งปีหลังของปีที่่ผ่านมา แต่เรามองถึงอัตราการเติบโตว่าธุรกิจค้าปลีกเองสัดส่วนในตลาดมีมากมายมหาศาลและธุรกิจของเดลิเวอรี่เอง เป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะธุรกิจเดลิเวอรี่ในตลาดก็มีสัดส่วนเกือบๆ 2หมื่นล้านบาท และมองว่าในอีก 4-5 ปี ในปี 2022 อัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ก็จะทำให้อัตราการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรี่มีโอกาสเติบโตเท่าตัว ผมคิดว่าถ้าเรามาโฟกัสให้ความสำคัญจัดเทรดโซนดีๆ ตัวรายได้ของสัดส่วนของธุรกิจเหล่านี้ที่เรามีอยู่ในบริษัทฯ เราก็จะมีการเติบโตมากขึ้น จากวันนี้เรามีไม่ถึง 1% แต่เราเชื่อว่าในต่อจากนี้ไป ในอีกไม่กี่ปีสัดส่วนที่ไม่ถึง1% มันก็จะมีตัวเลขที่เติบโตขึ้น และเป็นอีกตัวหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเราในระยะยาว

 

 


Q: มองดูแล้วเทรนด์การเติบโตของธุรกิจ Food Service ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง แล้วอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับบริษัทฯ บ้างคะ

คุณบุญยง ตันสกุล : ในธุรกิจอาหารก็ถือว่าเราก็แบ่งกลุ่มธุรกิจอาหารออกมาเป็นกลุ่มประเภทต่างๆ อดีตที่ผ่านมาเราอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าฟูลเซอร์วิสเรสเตอรอง อย่างร้านอาหารญี่ปุ่นที่เรามีอยู่คือต้องเข้ามานั่งในร้าน นั่งทานในร้านเพราะฉะนั้นมันก็จะกระจุกตัวขึ้นอยู่กับการขยายการเปิดศูนย์การค้า เมื่อก่อนศูนย์การค้าเปิดเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล วันนี้ก็ขยายไปในต่างจังหวัดมากขึ้น เมื่อก่อนเราก็จะมีแบรนด์ญี่ปุ่นแบรนด์เดียว การขยายทำได้ยาก มันก็ต้องไปรอการเปิดศูนย์การค้าใหม่ๆ พื้นที่ก็มีจำกัด นั่นคือความเสี่ยงในธุรกิจในอดีต วันนี้เราพยายามจะเข้าไปในเซกเม้นท์ต่างๆ ของตัวฟู้ดเซกเตอร์ ฟู้ดอินดัสตรี้ มันก็จะมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรกก็คือฟูลเซอร์วิส เราอยู่ในตัวนี้มาเกือบ 30 ปี เราคิดว่าเรามีความชำนาญในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ในกลุ่มที่เป็นสตรีทฟู้ด กลุ่มที่เป็นคีออส อดีตเราไม่มีสัดส่วนในธุรกิจเหล่านี้อยู่เลย แต่ในสตรีทฟู้ดและคีออสเนี่ยมีสัดส่วนธุรกิจเป็นแสนกว่าล้าน อีก 5 ปีจะโตขึ้นมา 2 แสนกว่าล้านบาท เราก็ต้องกระจายความเสี่ยง คือพยายามที่จะเข้าไปในเทียร์ต่างๆ ของตัวฟู้ดอินดัสตรี้ให้มากที่สุด มีการทำทั้งที่เป็นตัวแบรนด์ใหม่เข้าถึงคนครอบคลุมมากขึ้น

 

วันนี้แบรนด์ที่เรามีอยู่ 12 แบรนด์ ก็มีตั้งแต่กลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน จนกระทั่งถึงกลุ่มที่เป็นครอบครัว พูดถึงตัวรายได้ก็ครอบคลุมตั้งแต่รายได้ต่ำเลย เมนูตั้งแต่จานละ 50 บาท ไปถึงเซ็ต 2-3 พันบาท ครอบคลุมรายได้ต่ำ ปานกลาง จนถึงรายได้สูง ตัวนี้เป็นการกระจายความเสี่ยงระดับหนึ่ง ส่วนวันนี้หลังจากได้แบรนด์ไทยมา การขยายสาขานอกศูนย์การค้าก็มีมากขึ้น สมัยก่อนก็อยู่กรุงเทพฯ เดี่ยวนี้ก็มีในทุกจังหวัด ไปอยู่ในโมเดลของสถานีบริการน้ำมัน ในสแตนอโลน ก็จะมีทุกๆไซส์เลย ก็สามารถกระจายความเสี่ยงเหล่านี้ การบริหารความเสี่ยงต่างๆ ก็ทำได้ดี แน่นอนเราอยู่ในธุรกิจอาหารการแข่งขันก็คือต้นทุนเรื่องวัตถุดิบ มันก็จะมีความผันผวน เราซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศส่วนหนึ่งคืออย่างปลาแซลมอน วัตถุดิบในประเทศราคาก็ผันผวน การบริหารจัดการเหล่านี้ก็ใช้วิธีการประกวดราคา ทำสัญญาระยะกลาง ระยะยาว และมีการใช้เอาท์ซอร์ทที่มีการจัดเก็บสินค้ามีมาตรฐานระดับเวิลด์คลาส ตัวนี้ก็มีการกระจายความเสี่ยงเรื่องของวัตถุดิบ และเรื่องของการเปิดสาขาไม่ได้ผลตามเป้าหมาย เมื่อก่อนจะมีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันก็มีทีมที่คอยมาดูการเปิดสาขาต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และมีการมอนิเตอร์ทุกเดือน จัดโซนต่างๆ ถ้าสาขาไหนที่มีปัญหาการแก้ปัญหาก็ทำได้รวดเร็วมีทีมเข้าไปดูทั้งเรื่องของการเจรจาค่าเช่าการซีเคียวพื้นที่การทำสัญญาระยะยาว พวกนี้ก็จะมีระบบมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาก็ลงทุนเรื่องของแบ็กออฟฟิศมากขึ้น ในเรื่องของระบบดีโอเอสที่วันนี้เข้าไปเชื่อมโยงการควบคุมดูแลการพัฒนาแฟรนไชส์ให้เค้ามีรายได้ต่อเนื่อง วัตถุดิบต่างๆที่ขายเข้าไปในช่องทางนี้ก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

ผมว่าตัววัตถุดิบเราก็มีการกระจายความเสี่ยงได้ดี อีกข้อหนึ่งก็คือเรื่องของธุรกิจอาหารมันเป็นเรื่องของการใช้คนเยอะ เรามีคนอยู่ในแบ็กออฟฟิศเกือบ 400 คน คนที่อยู่ในร้าน 12 แบรนด์ เกือบ 3,000 กว่าคน เพราะฉะนั้นการทำให้คนที่อยู่กับเรา รักษาคนให้ได้ ผมว่าเป็นความท้าทายเป็นความเสี่ยงถ้าเกิดเรามีการเทิร์นโอเวอร์สูง มันก็กระทบกับคุณภาพของอาหารและบริการ ผมว่าในหลายธุรกิจอาหารบริการก็จะเจอปัญหาเรื่องแรงงาน บริษัทฯ ก็พยายามที่จะสร้างตัวเอ็นเกจเม้นท์ มีความรักมีความสุข มีแพชชั่นในงาน ในธุรกิจที่เรามีอยู่ ถ้าเกิดคนเหล่ามีความสุขมีรายได้ดี อยู่กับเราได้ มันก็จะทำให้การรักษาคุณภาพอาหารและบริการดีขึ้นตามลำดับ นี่คือความเสี่ยงหลักๆที่บริษัทฯเองก็ประสบอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันก็มีวิธีการบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ ผลกระทบก็คาดว่าจะดีขึ้นในระยะยาว

 

 

Q: แผนขยายสาขาในปี 2562 และปัจจุบันมีทั้งหมดกี่สาขาจากทุกแบรนด์คะ

คุณบุญยง ตันสกุล : ตอนนี้เรามีร้านอาหารในไทยและต่างประเทศรวม 255 สาขา แบ่งเป็นกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารไทย 167 สาขา และกลุ่มแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น 88 สาขา ซึ่งแบ่งเป็นร้านอาหารที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของ 110 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 145 สาขา ซึ่ง ในปี 2562 เราวางแผนงานขยายร้านอาหารรวมประมาณ 123 สาขา โดยกลุ่มบริษัทฯ 36 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 87 สาขา ส่วนในปี 2563 บริษัทฯ วางแผนงานขยายร้านอาหารรวมประมาณ 225 สาขา แบ่งเป็นการขยายสาขารูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่โดยกลุ่มบริษัทฯ 50 สาขา และให้สิทธิแฟรนไชส์ 175 สาขา โดยเรา ตั้งเป้านำบริษัทฯ ก้าวเป็นผู้นำของประเทศในธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ครับ

 

 

Q:รายได้ 3 ปี ย้อนหลังเป็นอย่างไรบ้างคะ

คุณบุญยง ตันสกุล : เรามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่เกือบๆ 20% ตัวรายได้ก็หลังจากที่เรามีแบรนด์ใหม่ๆเข้ามา ไปซื้อธุรกิจแบรนด์ไทย ซื้อธุรกิจแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นพรีเมี่ยมเข้ามา ตั้งแต่ปี2016 มา เรื่อยมา เราก็จะมีการขยายสาขาทั้งที่เป็นสาขาเราเอง กับสาขาที่เป็นของแฟรนไชส์ การขยายสาขาทำได้รวดเร็วขึ้น รายได้มันก็จะเติบโตตามรายได้ที่เราขยายสาขาได้ทั้งที่เป็นร้านอาหารไทย อาหารญี่ปุ่น ทั้งที่เป็นร้านอาหารเราเอง และขายลิขสิทธิ์ให้กับแฟรนไชส์ รวมทั้งร้านที่เรามีไซส์ปกติ และปัจจุบันที่เรามีไซส์ที่เล็กลง การเติบโตก็เติบโตต่อเนื่องและมองถึงการเติบโตในช่วง 9 เดือนนี้ของปี2018 ที่ผ่านมา เราก็ยังเติบโตได้ ในอัตราเกิน 20%

 

สำหรับปี 2019-2020 แผนการเติบโตก็คิดว่าเฉลี่ยก็คงไม่ต่ำกว่านี้ ก็ยังมุ่งเน้นในการขยายสาขาในเทียร์ต่างๆ นอกศูนย์การค้า มีแบรนด์ใหม่ๆเข้ามา ในธุรกิจแฟรนไชส์เราให้ความสำคัญมาก เพราะลูกค้าแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีสาขาเดียว แฟรนไชส์เราส่วนใหญ่มีประสบการณ์จากแฟรนไชส์อื่นๆ เพราะฉะนั้นเวลาขยายสาขาบางคนก็เป็นเจ้าของถึงเกือบ 10 สาขาก็มี บางคนเฉลี่ย4-5 สาขาก็มี ข้อได้เปรียบของธุรกิจเราคือเราสร้างแบรนด์เองแล้วเราขยายสิทธิของแฟรนไชส์ให้กับคนนอกในการไปขยายให้เรา ซึ่งในธุรกิจนี้มันก็มีไม่มากที่ทำได้แบบเรา ส่วนใหญ่ก็ไปซื้อสิทธิแฟรนไชส์มาจากต่างประเทศแล้วมาขยายในประเทศ วันนี้เรานอกจากจะขยายแฟรนไชส์ในประเทศแล้วก็ไปต่างประเทศด้วยไปถึงประเทศเพื่อนบ้านก็มีสาขาในต่างประเทศปัจจุบัน 8 สาขา แบรนด์ญี่ปุ่นที่เคยเปิดในประเทศก็ไปถึงต่างประเทศแล้วมี อากะ เปิดที่พม่า และกัมพูชา ออนเดอะเทเบิ้ลก็ไปเปิดที่กัมพูชาเรียบร้อยแล้ว แบรนด์ไทยก็มีที่ลาวและกัมพูชา ซึ่งพวกนี้ก็จะเป็นตัวไดร์ฟให้อัตราการเติบโตรักษาไว้ได้เหมือนกับ 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

 


Q:ความคืบหน้าการเสนอขายหุ้น IPO

คุณบุญยง ตันสกุล : เราได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว โดยเราจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 75 ล้านหุ้น ล่าสุดเพิ่งมีการกำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 13 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาBook Building โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 7 – 8 และ 11 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าหุ้น ZEN จะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เราเดินสายพบนักวิเคราะห์ นักลงทุนครับ

 

 

Q: วัตถุประสงค์การใช้เงินระดมทุน จะนำเงิน IPO ไปทำอะไรบ้างคะ

คุณบุญยง ตันสกุล : วัตถุประสงค์ระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการขยายและปรับปรุงสาขาร้านอาหาร ชำระคืนเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

 

 

Q:มองการเติบโตของเทรนด์หลังจากที่เราเข้ามาระดมทุน อย่างไรบ้างคะ

คุณบุญยง ตันสกุล : ผมว่าการเข้ามาระดมทุนเป็นบริษัทจดทะเบียน ก็มีข้อดีมากมายสิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นอดีตที่ผ่านมาคนนึกถึงเซ็นคิดว่าเรามีเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างเดียวคือแบรนด์เซ็น แต่พอเราเข้ามาเราสื่อสารเรื่องนี้มากขึ้น เราพบนักลงทุน พบนักวิเคราะห์ จะเห็นว่าหลายๆคนรู้จักเรามากขึ้น การทำไออาร์มันก็ทำให้เราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและก็รู้จักตัวตนบริษัทฯ มากขึ้น

 

สองก็คือผมคิดว่าเรามีมาตรฐานมีเบรนช์มาร์ทที่ดี เพราะการเข้ามาในบริษัทจดทะเบียนมันก็ทำให้เราอยู่ภายใต้ความเป็นมหาชน อดีตที่ผ่านมาเราก็เป็นบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นก็น้อยสเตคโฮลเดอร์ก็มีไม่กี่กลุ่ม วันนี้เรามีสเตคโฮลเดอร์ที่หลากหลาย เรามีทั้งที่เป็นลูกค้าไม่แน่ลูกค้าอาจจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นพนักงานวันนี้อาจจะมาถือหุ้นบริษัทฯ สเตคโฮลเดอร์ต่างๆ ก็มีความสนใจมากขึ้น ก็จะทำให้ในเรื่องของการทำงานเองถ้าเกิดพนักงานมีความเป็นเจ้าของ ผมคิดว่าการทำงานภายใต้ความเป็นเจ้าของก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำด้วยใจทำด้วยจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ มันก็ส่งผลกับธุรกิจ เรื่องของข้อที่สามก็คือผมว่าการเป็นมหาชนมันเป็นช่องทางในเรื่องของแหล่งทุนด้วย เมื่อก่อนธุรกิจส่วนใหญ่บ้านเราจะกู้เงินจากสถาบันการเงินเกือบทั้งหมด ต้นทุนการเงินบางทีก็สูง ถ้าเพอร์ฟอแมนซ์เราไม่ดีเกิดวิกฤติการเงินก็เป็นความเสี่ยง แต่การที่เข้ามาระดมทุนเราก็มีต้นทุนการเงินที่ถูกลง

 

อย่างการเข้าตลาดหลังจากได้เงินมาส่วนหนึ่งก็นำมาคืนให้กับหนี้ของสถาบันการเงินที่เรากู้มามันก็จะช่วยลดต้นทุนในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ส่วนหนึ่งก็มาใช้ในเรื่องของการขยายร้านใหม่ๆ ส่วนหนึ่งก็นำมาปรับปรุงร้านเพราะอยู่ในธุรกิจนี้มานาน หลายร้านที่อยู่ในช่วงของการปรับปรุง ธุรกิจอาหารเสน่ห์ของมันก็คือมันเป็นธุรกิจที่บริหารด้วยเงินสด ถ้าเกิดวันหนึ่งเราต้องการซื้อธุรกิจใหม่ๆ ซื้อแบรนด์ใหม่ๆเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เราก็ซื้อแบรนด์พวกนี้มา เราก็อาศัยจากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ว่าต่อจากนี้ไปเราก็มีทางเลือกเราก็จะมีแหล่งทุนที่บางที่เราก็ออกเป็นหุ้นกู้ หรือไม่ก็ระดมทุน พวกนี้ก็จะช่วยเราในเรื่องการลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของดอกเบี้ย ในการแข่งขันในธุรกิจต่อจากนี้ไปมันมีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง เพราะฉะนั้นการเข้าไปจดทะเบียนมันก็มีในหลายมิติ เราก็จะ1.มาตรฐาน 2.ต้นทุนการเงิน 3. เป็นที่รู้จักมากขึ้น นี่คือข้อดีที่เราเปลี่ยนจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทจำกัดมหาชน

 


Q: กังวลต่อภาวะตลาด IPO ที่ดูไม่ค่อยสดใสท่าไหร่ในช่วงที่ผ่านมาบ้างหรือไม่

คุณบุญยง ตันสกุล : ผมมองว่าความผันผวนตลาดมันก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเรามองถึงธุรกิจของเรามันตรงข้ามเลย ความผันผวนของตลาดไม่ดี แต่ธุรกิจเราดีขึ้นตามลำดับ ผมว่านักลงทุนเข้าใจสิ่งเหล่านี้ บางทีมองตลาดผันผวนแต่ธุรกิจที่เรามีอยู่ช่วงที่ผ่านมา เรามีการเติบโตต่อเนื่อง 7 ไตรมาสมีอัตราการเติบโตทั้งที่เป็นเซมสโตร์ ตัววัดต่างๆเราปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับทั้งรายได้และกำไรผมคิดว่าตัวนี้ก็จะเป็นตัวบอกเหมือนกันว่าบางทีความผันผวนในตลาดมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่พื้นฐานของบริษัทฯ ที่ดีดูจากผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องซึ่งมันตรงข้ามกับความผันผวนของตลาดเลย ตลาดผันผวนตัวเราดี ตัวนี้น่าจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

 

 


Q:สุดท้ายอยากให้คุณบุญยง ฝากทิ้งท้ายถึงนักลงทุนและคนที่อยากจะเข้ามาลงทุนในหุ้นZEN

คุณบุญยง ตันสกุล : เรามองถึงโอกาสทางธุรกิจเรามองถึงการเติบโต ผมเองหลังจากที่ได้เข้ามาบริหารแล้วก็เห็นถึงศักยภาพของตัวธุรกิจ ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีความสดใสเป็นปัจัย4 ยังไงก็คนยังต้องการอยู่ ถ้าเราสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงทันกับผู้บริโภคเราก็จะเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ เราก็มองถึงในระยะยาวเราก็มีจุดได้เปรียบเยอะ แบรนด์ของเซ็นในแบรนด์ทั้งหมดเป็นที่รู้จัก ทุกคนรู้จักเวลาเราไปพบนักลงทุนพบนักวิเคราะห์พบคนภายนอก ทุกคนเป็นลูกค้า ทุกคนก็เคยใช้บริการ แล้วบริษัทฯ ก็มีความุ่งมั่นว่าเราไม่ได้หยุดที่ประเภทอาหารไทยกับญี่ปุ่น ไม่ได้หยุดที่แบรนด์ที่เรามีอยู่ในวันนี้

 

เราวางเป้าหมายว่าหนึ่งทำอย่างไรให้เราสามารถที่จะไปอยู่ในใจผู้บริโภคในทุกมื้อของอาหารที่ทาน วันนี้ในห้างสรรพสินค้าในศูนย์การค้า เรามีตัวเลือกให้ผู้บริโภคทานเราได้ทุกประเภททุกวัน อยากทานอาหารญี่ปุ่น อยากทานอาหารปิ้งย่าง อยากทานอาหารเวสเทิร์น หรือแม้กระทั่งอยากทานส้มตำ อยากทานส้มตำ อยากทานเวียดนาม อยากทานสตรีทฟู้ด ทุกมื้อทานได้หมดเลย ในทุกๆวัน

 

สองคืออยากให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวก เราจะต้องไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากที่สุด ใช้เวลาจากบ้านมาทานร้านเราในจุดที่ใกล้ที่สุด ใช้เวลาไม่นานหรือไม่มีเวลาเราก็มีอาหารไปบริการที่บ้าน เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มของเราก็มีตั้งแต่อยู่นอกศูนย์ อยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ไปเติมน้ำมันก็เจอเราหรือไม่สุดท้ายเราก็อยู่ในตึกแถวอยู่ใกล้บ้าน อยู่ในออฟฟิศ เพราะฉะนั้นร้านในเครือเราจะเป็นร้านที่เราวางแผนว่าจะต้องทำให้ใกล้ชิดผู้บริโภคให้มากที่สุดสะดวกในการซื้อมากที่สุด ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งหนึ่งทำให้เราเห็นถึงการเติบโตหุ้นเราเป็นหุ้นที่มองถึงโกสสตอร์คในระยะสั้น กลาง ยาว เราจะวางแผนการเติบโตทุกๆปีทั้งที่เป็นตัวรายได้และกำไรเราให้ความสำคัญทั้งที่เป็นพนักงานลูกค้าชุมชนและสำคัญก็คือนักลงทุน ก็ต้องมองถึงผลตอบแทนและเงินปันผลที่ลงทุนแล้วต้องได้รับความคุ้มค่าได้รับผลตอแทนที่สูงขึ้นทุกๆปี

 


Q: หุ้น ZEN จะเป็นหุ้นแบบไหน

คุณบุญยง ตันสกุล : เป็นทั้ง Growth Stock และDividend Stock โดยถ้ามองถึงระยะยาวผมว่าหุ้น ZEN ตอบโจทย์เลยครับ


------จบ------

By: สุกัญญา ศิริรวง

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

พลังแบงก์ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็นแรงซื้อ แรงเก็งกำไรเข้ามาหุ้นแบงก์หลายตัวหนาแน่น ทำให้ ดัชนีตลาด ยืน1,400 จุด ได้...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้