Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด GDP มาเลเซียปี 61 ชะลอลงมาที่ 5.3% จากปี 60 ที่ขยายตัวกว่า 5.9%

29,347

แมกกาซีนหุ้นอินไซด์  ( 6 มิถุนายน 2561)   นโยบายเศรษฐกิจที่ประกาศโดยนายมหาธีร์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายของรัฐบาลชุดเก่าอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการลงทุนของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทบทวนโครงการก่อสร้าง Mega projects ซึ่งรวมถึงรถไฟความเร็วสูงระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ที่เพิ่งถูกยกเลิกไปนั้น คงจะไม่กระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะสั้น ขณะเดียวกันอาจมีส่วนช่วยลดภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว จากปัจจัยพื้นฐานด้านฐานะการคลังของมาเลเซียที่ยังเปราะบาง ณ ขณะนี้ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต

 

ส่วนรูปแบบของนโยบายส่งเสริม FDI ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อปริมาณเม็ดเงิน FDI ของมาเลเซียไม่มากนัก หากพรรครัฐบาลใหม่สามารถทำให้เอกชนมั่นใจถึงความต่อเนื่องของทิศทางการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการลงทุนต่างๆที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่นมากขึ้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราการขยายตัวของ GDP มาเลเซียในปี 2561 อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.3 จากปี 2560 ที่ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 5.9 โดยยังคงมุมมองเชิงระมัดระวังความชัดเจนทางด้านนโยบายการบริหารประเทศของมาเลเซียในระยะ 5 ปีนับจากนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว



การเมืองมาเลเซียภายหลังปรากฎการณ์ที่นายมหาธีร์ โมฮามัด ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ปากาตัน ฮาราปัน ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 นั้นและพลิกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอีกครั้ง นับว่าเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ได้ประกาศยกเลิกแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศมูลค่ากว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียกับสิงคโปร์ สะท้อนว่าการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของมาเลเซียครั้งสำคัญนี้ย่อมนำมาซึ่งการความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ และคงผลโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของมาเลเซียในระยะข้างหน้า

 

จับตาการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่อาจส่งผลต่อบรรยากาศและโครงสร้างการลงทุนของมาเลเซียในระยะข้างหน้า

ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายการบริหารประเทศของมาเลเซียนับเป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลทั้งต่อแผนงานการลงทุนภาครัฐและความเชื่อมั่นของนักลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เป็นการผูกมัดการลงทุนในระยะยาว โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก กล่าวคือ

 

การเปลี่ยนขั้วของฝ่ายบริหารและความไม่แน่นอนของการสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ

การเลือกตั้งในครั้งนี้ นอกเหนือจากการเปลี่ยนขั้วของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลครั้งสำคัญของมาเลเซียในรอบ 60 ปี (Major cabinet change) แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญทางด้านอายุของผู้นำคนใหม่ที่สูงถึง 92 ปี ทำให้เริ่มมีการกล่าวถึงแผนการถ่ายโอนอำนาจและการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องทางการเมือง รวมถึงนโยบายต่างๆที่นายมหาธีร์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้ว

 

ภาพจาก pixelbay.com

ทั้งนี้ ประเด็นความไม่แน่นอนของความต่อเนื่องเชิงนโยบายจากการเปลี่ยนรัฐบาลข้างต้นนั้น ประกอบกับแนวคิดการทบทวนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ที่ได้ประกาศยกเลิกไปแล้วก่อนหน้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของประเทศที่ก่อตัวสูงขึ้นจนมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 65 ของ GDP นั้น คงส่งผลต่อแผนงานและเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (Mega projects) ที่ต้องอาศัยความต่อเนื่องของนโยบายในระดับสูง (High commitment) รวมถึง การลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจเครื่องจักรกลสำหรับงานก่อสร้าง หรือธุรกิจผลิตสายไฟอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งนี้ นอกเหนือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ยกเลิกไปแล้ว มูลค่าโครงการที่อาจมีการพิจารณาใหม่นั้นคาดว่าจะอยู่ที่ราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 4 ของมูลค่าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนงาน โดยส่วนมากเป็นโครงการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับจีน อาทิ โครงการ East Coast Rail Link (ECRL)

 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทบทวนโครงการก่อสร้าง Mega projects ย่อมมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพทางด้านการคลังของประเทศในระยะยาว ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคต อันจะช่วยลดแรงกดดันที่อาจมีต่อตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ แนวคิดการทบทวนการลงทุนโดยตรงจากจีนของรัฐบาลมาเลเซียชุดใหม่นั้น มาเลเซียจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน โดยไม่ให้ได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมาเลเซียและมาเลเซียก็เป็นคู่ค้าอันดับสองของจีนในอาเซียนรองจากเวียดนามด้วยเช่นเดียวกัน โดยอาจนำมาซึ่ง “การเจรจาต่อรอง” ระหว่างจีนและมาเลเซียเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพของประเทศในอนาคตมากขึ้น (Quality over quantity) โดยเฉพาะการเน้นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงอย่าง ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะ e-Commerce เป็นต้น

 

รูปแบบของนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนพรรครัฐบาลจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ประเด็นด้านนโยบายภาครัฐที่อาจส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาตินั้นจำต้องจับตาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่างๆ ว่าจะกลับมาเอื้อผลประโยชน์ให้กับคนท้องถิ่นมากขึ้น (Non FDI-friendly policies) ดังที่นายกรัฐมนตรีมหาธีร์เคยใช้มาแล้วในอดีตหรือไม่ อาทิ การพิจารณาอนุมัติการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เข้มงวดขึ้น หรือความเป็นไปได้ของการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

 


ภาพจาก pixelbay.com

 

ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายที่จำเป็นต้องจับตามองคือ ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เพดานสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทสัญชาติมาเลเซียของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งเคยได้รับการคุ้มครองค่อนข้างมากจากนายมหาธีร์เมื่อครั้งในอดีต ทั้งนี้ มูลค่าของ FDI ในภาคบริการขยายตัวสูงขึ้นมากนับตั้งแต่การเปิดเสรีภาคบริการในปี 2552 ในสมัยของนายกรัฐมนตรีนาจิป ราซัคจนส่งผลทำให้สัดส่วนของเม็ดเงิน FDI ในภาคบริการคิดเป็นกว่าร้อยละ 40.5 ของเม็ดเงิน FDI ในปี 2560 ทั้งหมด

 

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของนโยบายข้างต้นจึงอาจส่งผลต่อรูปแบบและเม็ดเงิน FDI ที่จะเข้ามายังมาเลเซียให้ชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการลงทุนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง Software implementation service, database service, data processing service ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) อาทิ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและเด็ก (Elderly and children welfare service) ธุรกิจสถานพักฟื้นบำบัดสำหรับผู้พิการ (Rehabilitation service for handicapped) หรือธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจสวนสนุก ธุรกิจโรงแรม รวมถึงการประกอบกิจการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มสำหรับสถานที่พักระดับ 4-5 ดาว (Hotel and restaurant service)

 

นอกจากนี้ ภาคการผลิตบางประเภทอาจได้รับการพิจารณาคุ้มครองเพิ่มเติมให้กับบริษัทท้องถิ่นมากขึ้น โดยอาจกำหนดให้ดำเนินการในลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture) แทนการลงทุนเองได้ทั้งหมด อาทิ กิจการโทรคมนาคม กิจการพลังงานรวมถึงพลังงานทดแทน กิจการเกษตรและเกษตรแปรรูป

 

ในระยะสั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบของนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากนัก หากพรรครัฐบาลใหม่สามารถทำให้เอกชนมั่นใจถึงความต่อเนื่องของทิศทางการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ ซึ่งการเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติดังกล่าวจะมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพของเม็ดเงินลงทุนจริงในระยะข้างหน้าไม่ให้ชะลอลงมาก เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับช่วงปี 2009 ที่ “มูลค่า FDI ที่ลงทุนจริงในมาเลเซียชะลอตัวลงมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน” โดยส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของมาเลเซียในช่วงนั้น

 

ภาพจาก pixelbay.com

 

ส่วนในระยะยาว หากรัฐบาลมาเลเซียปรับใช้มาตรการที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างประเทศนั้น อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นที่มาเลเซียยังคงต้องพึ่งพาการถ่อยทอดเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology transfer) เนื่องจากการจำกัดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจะลดทอนความสมัครใจของการถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีในประเทศที่กำลังพัฒนาย่อมมีต้นทุนค่อนข้างสูง อันเกิดจากความพร้อมของเครื่องจักรและกำลังแรงงานที่อาจไม่สามารถรองรับการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

ส่วนผลกระทบต่อตลาดการเงินของมาเลเซียนั้น ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายต่างๆในระยะข้างหน้าอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมาเลเซียยังคงประสบความท้าทายจากภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง ดังที่สะท้อนได้จากค่าเงินริงกิจของมาเลเซียคาดที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางค่อนข้างผันผวนและอ่อนค่าแล้วกว่าร้อยละ 0.75 (ณ 4 มิ.ย. 61) จากระดับ 3.95 ริงกิตต่อดอลลาร์ฯ ก่อนการเลือกตั้ง (8 พ.ค. 61) มาอยู่ที่ 3.98 ริงกิตต่อดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบต่อตลาดเงินของมาเลเซียอาจไม่มีขนาดเท่าที่เคยเกิดในปี 2556 และ 2559 เนื่องจากสัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลโดยนักลงทุนต่างชาติลดลงไปมากจากในอดีตที่เคยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 อีกทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการเงินของมาเลเซียอาจไม่ขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่น เนื่องจากพื้นฐานที่เปราะบางข้างต้นของมาเลเซียเกิดจากในประเทศเป็นสำคัญ

 

กล่าวโดยสรุป ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพรรครัฐบาลมาเลเซียข้างต้นนั้นย่อมส่งผลต่อทิศทางการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐให้ชะลอลงในปี 2561 และ 2562 จนกว่าจะมีความชัดเจน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2561 คาดว่าจะชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.3 จากปี 2560 ที่ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 5.9 (ไตรมาสที่ 1/2561 GDP มาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.4 (YoY) ต่ำสุดนับตั้งแต่ Q4/2559) โดยยังคงมุมมองเชิงระมัดระวังต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียในระยะต่อไป

คำค้นหา 
  มาเลเซีย  

 

บทความล่าสุด

FTI จัดงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 ผถห.อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดงานประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 ผถห.อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ได้เวลาซื้อหุ้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็นหุ้นตก หุ้นร่วง ณ จุด นี้ ด้วยข่าวอิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการโจมตีอิหร่าน.. ขอมองต่าง

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้