Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : การประชุม 1-2 พ.ย. 2554…คาดเฟดคงดอกเบี้ย พร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น

2,872

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : การประชุม 1-2 พ.ย. 2554 … คาดเฟดคงดอกเบี้ย พร้อมดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2554 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะมีการประชุมรอบที่เจ็ดของปี 2554 เพื่อตัดสินใจนโยบายการเงิน และอาจมีการพิจารณาถึงมาตรการต่างๆ ที่อาจจำเป็น หลังจากเฟดได้ให้คำมั่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ต่อเนื่องถึงกลางปี 2556 ในการประชุม FOMC รอบวันที่ 9 สิงหาคม 2554 รวมทั้งดำเนินการขายพันธบัตรระยะสั้นและซื้อพันธบัตรระยะยาวในวงเงินเดียวกันที่ 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในการประชุม FOMC รอบวันที่ 20-21 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อผลการประชุมของเฟดในรอบที่จะถึงนี้ ดังนี้

คาดเฟดยังไม่ปรับจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาจุดยืนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากด้วยการกดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะพิจารณาออกมาตรการผ่อนคลายสภาพคล่องเพิ่มเติมในระยะถัดไป ในภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีปัจจัยหรืออีกหลายเหตุการณ์ที่รอท้าทายอยู่ข้างหน้า แม้ว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะหลังอาจจะช่วยผ่อนคลายความกังวลต่อการที่สหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ก็ตาม   

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีพัฒนาการเชิงบวกในระยะสั้น แต่การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลา และยังมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ
นับจากการประชุมรอบก่อนหน้าจนถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่า พัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องชี้วัดด้านการผลิตที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวของกิจกรรมการผลิต การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ออกมาดีเกินคาด รวมไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2554 ที่ 2.5% (QoQ, Annualized) นำโดยการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน โดยพัฒนาการดังกล่าวนี้ ได้ช่วยบรรเทาความกังวลต่อโอกาสการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง


อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่มาก เนื่องจากยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์โดยเฉพาะการพิจารณาแผนการลดการขาดดุลการคลังและประเด็นการเมืองที่รอท้าทายอยู่ในระยะถัดไป (ล่าสุด แผนการสร้างงานของประธานาธิบดีโอบามา ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาสูง) ในขณะเดียวกัน ความยืดเยื้อของวิกฤตหนี้ในยุโรป รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย นำโดยจีน ก็ยังคงเป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้    

ภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ มีเสถียรภาพมากขึ้น แต่การฟื้นตัวอย่างมั่นคง ยังต้องใช้เวลา
ในปีที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยดูเหมือนว่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่คอยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เครื่องชี้ที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ เริ่มบ่งชี้ถึงเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดการสร้างบ้านใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรระยะยาว หรือ Operation Twist ของเฟดที่มุ่งเน้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ในระยะต่อไป นอกจากนี้ การขยายมาตรการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย (The Home Affordable Refinance Program: HARP) ของทางการ ที่จะมีการลดข้อจำกัดของเพดานกู้ (Loan-to-Value) ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินกู้ (ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2556) ก็เป็นอีกตัวช่วยที่เป็นที่คาดหวังว่าจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภคและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อไป

การแก้ปัญหาหนี้ในยุโรป...มีพัฒนาการในเชิงบวก แต่คงไม่ยุติลงเบ็ดเสร็จในเวลารวดเร็ว
ในการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะออกมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาหนี้ในยุโรปไม่ให้ลุกลามไปสู่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ รวมถึงไปสู่ภาคการธนาคาร ที่หากเกิดขึ้น จะมีผลกระทบในวงกว้าง จึงส่งผลให้ความคืบหน้าล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณที่เป็นบวกมากขึ้นต่อแนวทางการแก้ปัญหา ทั้งการที่กลุ่มประเทศสมาชิก EMU 17 ประเทศได้รับรองการขยายขีดความสามารถของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ให้สามารถทำได้เต็มวงเงิน 4.4 แสนล้านยูโร และล่าสุดสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะขยายขีดความสามารถของกองทุน EFSF เพิ่มขึ้นอีกเป็น 1 ล้านล้านยูโร การอนุมัติจ่ายเงินกู้ให้แก่กรีซจำนวน 8 พันล้านยูโร รวมไปถึงการที่ประเทศแกนหลักในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ได้เตรียมแผนการเพิ่มทุนธนาคาร โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1) ให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 9% ในปีหน้า ซึ่งความคืบหน้าเหล่านี้ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อแนวการแก้ไขปัญหาหนี้ของยูโรโซนได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแก้ปัญหาหนี้ในยูโรโซนยังคงต้องอาศัยองค์ประกอบและความร่วมมือร่วมใจกันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับลดหนี้ (Haircuts) ให้กับกรีซ แผนการรัดเข็มขัดและความขัดแย้งทางการเมืองในแต่ละประเทศ รวมถึงแนวทางที่ชัดเจนในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการขยายขีดความสามารถของกองทุน EFSF และแผนการเพิ่มทุนธนาคาร ทำให้คงยากที่วิกฤตจะสามารถคลี่คลายหรือยุติลงอย่างเบ็ดเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งก็ส่งผลให้ปัจจัยนี้อาจสร้างความอ่อนไหวต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เช่นกัน  

โดยสรุป แม้ในช่วงที่ผ่านมา เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะถดถอยอีกครั้งคลายตัวลง ประกอบกับการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปก็เริ่มเห็นพัฒนาการในเชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะข้างหน้า ยังคงมีอีกหลายเหตุการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการพิจารณาแผนการลดการขาดดุลการคลังและประเด็นความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมืองของทางการสหรัฐฯ (ล่าสุดข้อเสนอแผนการสร้างงานของประธานาธิบดีโอบามาไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาสูง) อีกทั้งการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัยที่เป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ต้องอาศัยเวลา นอกจากนี้ การแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ยังต้องติดตามอีกหลายประเด็นสำคัญ (ทั้งการปรับลดหนี้กรีซ ความชัดเจนในทางปฏิบัติของการขยายศักยภาพกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) แผนการเพิ่มทุนธนาคาร แผนการรัดเข็มขัดการคลัง และความขัดแย้งทางการเมือง) อันทำให้ยากที่จะสามารถยุติลงอย่างเบ็ดเสร็จในเวลารวดเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังคงจุดยืนในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปในการประชุมรอบที่เจ็ดของปีในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2554 ทั้งการให้คำมั่นว่าจะยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับต่ำจนถึงกลางปี 2556 รวมถึงการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณด้วยการขายพันธบัตรระยะสั้นและซื้อพันธบัตรระยะยาวในวงเงินเดียวกันที่ 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ (Operation Twist) และการนำเงินที่ได้รับจากการครบกำหนดของตราสารจำนองที่ถืออยู่ไปลงทุนอีก เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในเส้นทางของการฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะพิจารณาดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากเฟดประเมินว่ามีความจำเป็นหรือพัฒนาการเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาด

เนื่องจากมติการประชุมเฟดในรอบนี้ น่าจะเป็นที่คาดการณ์และรับรู้แล้ว ดังนั้น ตลาดเงินและตลาดทุนโลกคงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัจจัยนี้โดยลำพัง สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยนั้น คงจะขึ้นอยู่กับการประเมินน้ำหนักความเสี่ยงหลักโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในประเทศที่มีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของอุทกภัยครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นและยังไม่ยุติลงในขณะนี้ โดยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะติดตามสถานการณ์แวดล้อมรอบด้าน ทั้งผลกระทบและมาตรการเยียวยาจากภาคส่วนต่างๆ และตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้