Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย :เครื่องชี้ศก.ไทยเดือนส.ค.สัญญาณบวกที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยหนุนภาพรวมช่วงครึ่งหลังปี54

1,828

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย : เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนสิงหาคม สัญญาณบวกที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยหนุนภาพรวมช่วงครึ่งหลังปี 2554


By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ภาพรวมของการฟื้นกำลังการผลิตที่กระจายไปในหลายภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ (หลังจากที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตคลี่คลายลง) ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศของรัฐบาลบางมาตรการ ที่เริ่มดำเนินการแล้วในเดือนสิงหาคม 2554 ช่วยส่งผลทำให้เครื่องชี้การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เริ่มกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น และสถานการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นแรงหนุนต่อเนื่องต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 โดยประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุด มีดังนี้ :-

           ภาคการผลิต และการใช้จ่ายในประเทศมีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้น ขณะที่ การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง  การผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ที่ร้อยละ 3.9 (MoM) จากเดือนก่อนหน้า และร้อยละ 7.0 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในเดือนสิงหาคม 2554 เทียบกับที่หดตัวลงร้อยละ 0.7 (YoY) ในเดือนกรกฎาคม โดยทิศทางของภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นไปในหลายหมวดอุตสาหกรรม ซึ่งก็ช่วยหนุนให้อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 64.7 ในเดือนสิงหาคม เร่งขึ้นจากร้อยละ 63.1 ในเดือนกรกฎาคม

          โดยการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมที่เน้นขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขยายตัวถึงร้อยละ 15.1 (YoY) นำโดย การเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ของการผลิตยานยนต์ที่เร่งขึ้นเพื่อส่งมอบรถยนต์ตามคำสั่งซื้อคงค้างในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ การผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออก ก็ฟื้นกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 6.6 (YoY) โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และผลิตภัณฑ์ยางที่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการจากจีน ส่วนการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นขายในประเทศ เติบโตร้อยละ 3.3 (YoY) ตามการผลิตปิโตรเลียมที่มีการเร่งกำลังการผลิตก่อนจะปิดปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐาน Euro 4 และเพื่อรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น หลังระดับราคาขายปลีกปรับตัวลดลงจากมาตรการของรัฐบาลที่เว้นการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันบางประเภท

           การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยหากเทียบกับในเดือนก่อนหน้า การบริโภคภาคเอกชน พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.6 (MoM) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นร้อยละ 1.9 (MoM) ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเติบโตเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 8.3 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 และร้อยละ 6.5 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ

        โดยองค์ประกอบที่สะท้อนการใช้จ่ายภาคเอกชนที่มีทิศทางดีขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบด้วย การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำเข้าสินค้าทุน ซึ่งขยับสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าในภาพรวมของประเทศที่สูงเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าทุนดังกล่าว ยังเป็นไปตามทิศทางการนำเข้าเครื่องจักรในกลุ่มยานยนต์ (โดยเฉพาะโรงงานผลิตรถอีโคคาร์ และรถยนต์เชิงพาณิชย์) อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตตามแผนการลงทุนของหลายบริษัท ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์ ก็ขยายตัวสูงขึ้นหลังจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายลง ขณะที่ อานิสงส์จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังมาตรการเว้นเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันของรัฐบาล ก็ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันเบนซินและดีเซล เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างเดือนสิงหาคม

             การส่งออกยังขยายตัวสูงแม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 0.6 (MoM) และร้อยละ 28.5 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 36.4 (YoY) ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องได้ในทุกหมวดหลัก โดยเฉพาะ การส่งออกสินค้าเกษตร (เพิ่มร้อยละ 69.3) ที่เติบโตตามปริมาณการส่งออกข้าวและยางพารา ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรม (เพิ่มร้อยละ 27.6) ขยายตัวดี ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม พลาสติก เคมีภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

           ทั้งนี้ แม้การส่งออกจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นตามการเร่งการผลิตก่อนปิดโรงกลั่น สินค้าทุนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่เร่งกำลังการผลิต และการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 100 จากเดือนก่อนหน้า) ได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 0.705 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม จากที่เกินดุลมากถึง 4.552 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมทองคำดุลการค้าในเดือนสิงหาคม จะบันทึกยอดเกินดุลสูงขึ้นมาที่ 1.864 พันล้านดอลลาร์ฯ  

บทสรุป และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
            แม้ภาพความเสี่ยงจากสถานการณ์วิกฤตด้านการคลังของสหรัฐฯ (จากปัญหาการขยับเพดานหนี้ และการสูญเสียอันดับเครดิต AAA) และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป (โดยเฉพาะปัญหาในกรีซ) จะดูน่ากังวลในเดือนสิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา แต่สัญญาณของเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์) และการใช้จ่ายในประเทศบางส่วนของไทยในเดือนสิงหาคม เริ่มกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเมื่อมองไปในช่วงที่เหลือของปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางของเศรษฐกิจไทย ก็ยังน่าจะได้รับแรงหนุนจากความต่อเนื่องของการเร่งกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการเพิ่มรายได้ (อาทิ โครงการรับจำนำข้าว) พร้อมๆ ไปกับการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน (อาทิ โครงการรถยนต์คันแรก และที่อยู่อาศัยหลังแรก) ก็น่าจะช่วยหนุนบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

             แต่กระนั้น ทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงในหลายพื้นที่ของไทย ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2554 อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะในส่วนของภาคการส่งออกเดือนท้ายๆ ของปี 2554 อาจสะท้อนภาพการชะลอตัวที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี จากปัจจัยเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันของปี 2553 ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 น่าจะมีค่าเฉลี่ยที่ระดับประมาณร้อยละ 4.0-5.5 (YoY) สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 (YoY) ในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ก็อาจสามารถขยายตัวในกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5-4.2 (กรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.8) ทั้งนี้ สถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2555 น่าจะมีผลทำให้ทิศทางของตลาดการเงินและเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น แต่ก็คาดว่า มาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศของรัฐบาล น่าจะช่วยชดเชยผลกระทบด้านลบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยไว้ได้บ้างบางส่วน

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

ต่างชาติ ลุยซื้อหุ้นไทย By : นายกล้วยหอม

นายกล้วยหอม เห็นนักลงทุนต่างชาติ กลับมาซื้อหุ้นไทย วานนี้ จัดไป เกือบ 3,600 ล้านบาท ส่วนในประเทศ พร้อมใจขายอย่าง...

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้