Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

ธุรกิจค้าปลีกไตรมาส 4/2554: คาดชะลอตัว...ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วม

2,163

ธุรกิจค้าปลีกไตรมาส 4/2554: คาดชะลอตัว...ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วม

By :ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมมาจนถึงปัจจุบันที่ยังคงขยายวงกว้างเข้าไปในอีกหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งผลให้ “ธุรกิจค้าปลีก” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าในช่วง 1-2 เดือนแรกที่น้ำเริ่มท่วมในเขตพื้นที่ทางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงผู้บริโภคที่อยู่ตามแนวทางผ่านของน้ำเกิดความกังวล และมีการซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคเพื่อเก็บไว้บริโภคในช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งจะไม่สะดวกในการออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าตามปกติ รวมถึงเพื่อนำไปบริจาคเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น สร้างความเสียหายให้กับวงจรค้าปลีกทั้งระบบ ตั้งแต่โรงงานผลิตสินค้า เส้นทางการจัดส่งสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และช่องทางการจัดจำหน่ายทางโมเดิร์นเทรนต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรค และส่งผลกระทบต่อการสร้างรายได้ของธุรกิจค้าปลีก

หากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2554 ก็คงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งมีสัดส่วนของยอดขายค้าปลีกรวมกันกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายค้าปลีกทั้งหมด  ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำที่ยังคงท่วมขังอยู่ รวมถึงการฟื้นตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายได้เร็ว ก็คาดว่า จะทำให้ธุรกิจค้าปลีกในช่วงปลายปีนี้อาจจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมา และสถานการณ์น้ำท่วมที่จะมีผลต่อยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่เหลือของปี 2554 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ธุรกิจค้าปลีก 3 ไตรมาสแรก เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8...แต่สถานการณ์น้ำท่วมอาจฉุดการเติบโตของค้าปลีกไตรมาสสุดท้าย
ภาพรวมของการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 มีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีอัตราการขยายตัวอยู่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.0  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจาก ตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา มีปัจจัยหนุนหลายประการที่เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคและส่งผลต่อเนื่องต่อธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ราคาสินค้าเกษตรหลายประเภทที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ประกอบกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละรายที่ค่อนข้างถี่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญที่ผ่านมาซึ่งเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2554 ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม วิกฤตน้ำท่วมที่รุนแรงในครั้งนี้ ยังคงขยายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า จำนวนธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.0 ของจำนวนธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด (คำนวณเฉพาะธุรกิจค้าปลีกโมเดิร์นเทรดของผู้ประกอบการรายใหญ่ ประกอบด้วยศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ และคอนวีเนี่ยนสโตร์) ซึ่งหากพิจารณาแยกรายประเภท รวมถึงประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่คาดว่าจะได้รับจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ มีรายละเอียดดังนี้


ทั้งนี้ หากพิจารณาผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมต่อธุรกิจค้าปลีกคาดว่า จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ดังนี้

•    คอนวีเนี่ยนสโตร์ และดิสเคาน์สโตร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ค้าปลีกทั้ง 2 ประเภทนี้ มีสาขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนที่เท่ากัน คือ ประมาณร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับจำนวนสาขาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วย คอนวีเนี่ยนสโตร์และดิสเคาน์สโตร์เป็นรูปแบบค้าปลีกที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเกือบทุกพื้นที่ อีกทั้งสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความจำเป็น ทำให้สาขาที่ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงแต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ น่าจะมียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งเดือนแรกภายหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งนี้เนื่องจาก การซื้อกักตุนของผู้บริโภค รวมถึงการซื้อเพื่อนำไปบริจาคช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นและได้ขยายวงกว้างไปตามพื้นที่ที่สำคัญ เช่น อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์กับวงจรค้าปลีกทั้งระบบ ตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภคที่มีความจำเป็นในช่วงน้ำท่วม ที่มีปัญหาในเรื่องของโรงงานผลิตที่ได้รับผลกระทบ การขนส่งที่ถูกตัดขาดหรือมีความยากลำบากมากขึ้น ตลอดจนศูนย์กระจายสินค้าที่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดให้บริการ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าที่จะนำมาวางจำหน่ายบนชั้นวางสินค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเท่านั้น แต่อาจจะรวมไปถึงค้าปลีกตามต่างจังหวัดที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าขาดแคลน หรือมีไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มนี้ก็ได้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการตั้งศูนย์กระจายสินค้าตามจุดต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการจัดส่งสินค้าไปยังร้านค้าโดยตรง เป็นต้น ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนสินค้าไปได้บางส่วน

•    ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มีสาขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับจำนวนสาขาทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่น่าจะได้รับผลกระทบที่ชัดเจนกว่าค้าปลีกในกลุ่มข้างต้น โดยเฉพาะศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ หลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการชั่วคราว ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าที่ยังไม่ได้รับผลกระทบแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็อาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ด้วยลักษณะของสินค้าที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็น เสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง เครื่องใช้ภายในบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่สินค้าที่ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องใช้ในช่วงเวลานี้ ประกอบกับการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก รวมถึงมีปัญหาในเรื่องพื้นที่จอดรถโดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งต้องกันที่จอดรถบางส่วนให้กับผู้ประสบภัย ก็อาจจะทำให้ลูกค้าชะลอการเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปจนถึงเดือนธันวาคม คาดว่า จะทำให้ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกกลุ่มนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2554 น่าจะเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าพวกอุปโภค บริโภคอาจจะมียอดขายที่เพิ่มขึ้นในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นก็อาจจะประสบกับปัญหาสินค้าขาดแคลนเหมือนกลุ่มค้าปลีกข้างต้น


ยอดขายไตรมาส 4/54 ชะลอตัว...คาดทั้งปีการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0-7.0

สถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจนต้องประกาศปิดกิจการชั่วคราวหลายแห่ง โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งมีสัดส่วนของยอดขายคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมด น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4/54 ซึ่งถือเป็นฤดูกาลขายที่สำคัญ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายได้โดยเร็ว ก็เชื่อว่า ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้น่าจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง เพราะปกติแล้วยอดขายของค้าปลีกในเดือนธันวาคมจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของยอดขายทั้งปี  ซึ่งหากสถานการณ์น้ำท่วมสามารถบริหารจัดการได้โดยเร็ว ประกอบกับความสามารถของผู้ประกอบการค้าปลีกในการเร่งฟื้นฟูธุรกิจให้พร้อมที่จะเปิดให้บริการ อาจจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมได้ในระดับหนึ่ง โดยคาดว่า ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปี 2554 น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และค้าปลีกในกลุ่มอุปกรณ์หรือวัสดุซ่อมแซมบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า น่าจะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้นภายหลังน้ำลดลง

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปจนถึงเดือนธันวาคม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองช่วงปลายปี ทำให้ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4/2554 น่าจะได้รับผลกระทบ และอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในปี 2554 มีการเติบโตที่ชะลอตัวลงกว่าที่ได้ประมาณการณ์ไว้ในตอนแรก เนื่องจาก วงจรการค้าของธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือซัพพลายเออร์ ศูนย์กระจายสินค้า เส้นทางการคมนาคมขนส่ง รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายตามโมเดิร์นเทรดต่างๆ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ นอกจากนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์การจับจ่ายใช้สอยและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว ก็เชื่อว่า ธุรกิจค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4/54 น่าจะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งถือเป็นฤดูการขายที่สำคัญของธุรกิจค้าปลีก และอาจจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมสามารถบริหารจัดการได้โดยเร็ว ประกอบกับแผนการเร่งฟื้นฟูของบรรดาผู้ประกอบการ ก็น่าจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกปี 2554 ยังคงขยายตัวอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 6-7 จากเดิมที่ได้คาดการณ์ว่าภาพรวมการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกจะมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 8.5-10.0 ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกยังคงรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ ผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น การจัดรายการส่งเสริมการขาย จัดการให้คำแนะนำ/คำปรึกษาในบริการซ่อมแซมบ้าน เป็นต้น ในขณะที่รัฐบาลควรเร่งฟื้นฟูกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งอาคารบ้านเรือน พืชสวน ไร่นา รวมทั้งการฟื้นฟูสาธารณูปโภคต่างๆเพื่อสร้างงาน เป็นต้น

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้