Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

การเข้าสู่ช่วงลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากคาดว่าจะราบรื่นจากภูมิต้านทานต่อความเสี่ยงศก.โลกที่เพิ่มขึ้น

2,118

การเข้าสู่ช่วงลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก คาดว่าจะราบรื่นจากภูมิต้านทานต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น

By : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เริ่มต้นแล้วกับ 11 สิงหาคม 2554 วันสำคัญวันหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเงินไทย ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนจะสิ้นสุดลง และสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะเริ่มจำกัดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก  ภายใต้วงเงินสูงสุด ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน ดังนั้น ด้วยโอกาสนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงทำการประเมินภาพรวมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านการลดวงเงินคุ้มครองจากเต็มจำนวนเหลือ 50 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน และมาที่ระดับ 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การเปลี่ยนผ่านจากเต็มจำนวน สู่ 50 ล้านบาท: เป็นไปได้อย่างราบรื่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า  สถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยต่อการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก ทั้งในด้านภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ ความพร้อมของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินในปัจจุบัน ตลอดจนความพร้อมของหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านจากการคุ้มครองเต็มจำนวนไปสู่การคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้:-

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีภาวะเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ต่อเนื่องไปถึงช่วงที่เหลือของปี 2554 นี้ คาดว่ายังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้อย่างค่อนข้างดี โดยได้รับแรงส่งจากภาคการส่งออกที่เติบโตดีเกินคาด และอุปสงค์ในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี คงจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2554 นี้ สามารถขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 3.5 – 4.5 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.0)  แม้ว่าจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ผู้ฝากเงินได้ทยอยจัดสรรและกระจายเงินออมบางส่วนไปสู่ช่องทางการลงทุนอื่นๆ แล้วในระดับหนี่ง ผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากที่มีวงเงินฝากสูงกว่า 50 ล้านบาท มีการกระจายเงินออมไปบ้างแล้วบางส่วน เพื่อรองรับการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก และเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่แข่งขันได้ หรือสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนเงินฝากที่ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ทั้งการกระจายเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ  รวมถึงการจัดสรรเงินออมไปสู่ช่องทางการลงทุนอื่นๆ อาทิ เงินลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ และเงินลงทุนในประกันชีวิตด้วยเช่นกัน  ซึ่งเมื่อผนวกปัจจัยต่างๆข้างต้นกับ การประชาสัมพันธ์ของภาครัฐและภาคเอกชน ในการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากแล้ว คงจะช่วยหนุนให้ผู้ฝากเงินมีความพร้อมรับมือกับการจำกัดวงเงินคุ้มครองมากขึ้น

ธนาคารพาณิชย์มีฐานะการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีการปรับกลยุทธ์การระดมเงินออม  ภายใต้การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ การปรับกลยุทธ์การระดมเงินออมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และราคาของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และเพื่อบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการดำเนินงานทางธุรกิจ ประกอบกับฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมในการรองรับจังหวะการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่กำลังมาถึง รวมถึงสามารถรับมือกับการแข่งขันด้านราคาได้ในระดับหนึ่ง

จากประเด็นต่างๆ ข้างต้นนั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน สู่ระบบการคุ้มครองแบบจำกัดวงเงิน เหลือ 50 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ในวันที่ 11 สิงหาคม ศกนี้ ว่าจะเป็นไปได้อย่างราบรื่น

ปี 2555 : ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

เมื่อมองไปในช่วงที่เหลือของปี 2554 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงจำกัดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ในเดือนสิงหาคม ปี 2555 แล้ว จุดจับตาคงอยู่ที่ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่มีน้ำหนักมากขึ้น ทั้งในส่วนของแกนหลักอย่างสหรัฐฯ ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางอยู่มาก โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนที่อาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มเติมหรือมีโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะถดถอยอีกครั้ง ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯให้คำมั่นว่าจะยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับเดิมต่อไปอีกจนถึงกลางปี 2556 ขณะเดียวกัน วิกฤตหนี้ในกลุ่มยุโรปที่ยังมีโอกาสลุกลามไปสู่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอิตาลีและสเปน ยังเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวในภาพรวมของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายคุมเข้มอย่างต่อเนื่องของทางการจีนในระยะที่ผ่านมาเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประกอบกับสัญญาณลบจากซีกโลกตะวันตก อาจกดดันให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในระยะปีข้างหน้า

ทั้งนี้ ภาพเชิงลบจากเศรษฐกิจต่างประเทศดังกล่าวข้างต้น อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินโลกให้ยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยความน่าสนใจต่อสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ที่ลดลง อาจทำให้นักลงทุนยังมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดประเทศเกิดใหม่ ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบ แนวโน้มดังกล่าว คงสนับสนุนให้ยังมีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ตลาดการเงินไทย และผลักดันให้เงินบาทมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ด้วย ซึ่งท้ายที่สุด คงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยในระดับหนึ่ง นอกเหนือไปจากการเพิ่มความซับซ้อนให้กับการดำเนินนโยบายของทางการ


อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะข้างหน้า จะเป็นไปในทิศทางที่มีความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้น เมื่อเทียบกับภาวะการณ์ในปัจจุบัน แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทย และสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คงจะอยู่ในสถานะที่พร้อมสำหรับการเข้าสู่จังหวะของการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 50 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ได้อย่างราบรื่น โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญหลายประการ ดังนี้

โครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทย มีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับเหตุการณ์อันไม่คาดคิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า คงจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่กดดันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับสูงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองเชิงบวกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะสามารถประคับประคองตัวให้ผ่านพ้นสถานการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกของไทยในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นทั้งในด้านสินค้าส่งออกและตลาดคู่ค้าสำคัญ เห็นได้จากหมวดสินค้าส่งออกหลักของไทยที่มีความหลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม ขณะที่ตลาดคู่ค้าสำคัญมีการกระจายตัวมาสู่ตลาดเอเชียและตลาดใหม่มากขึ้น โดยผู้ประกอบการได้มีการลดการพึ่งพิงตลาดหลักเพียงตลาดเดียวลงมาตามลำดับในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงมีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยน เพิ่มมากขึ้น

นโยบายรัฐบาลใหม่...เสริมความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจไทย นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่คาดว่าอาจผลักดันออกมาใช้ตั้งแต่ช่วงที่เหลือของปี 2554 ต่อเนื่องไปถึงปี 2555 ทั้งนโยบายเพิ่มรายได้ มาตรการด้านภาษี ตลอดจนโครงการลงทุนภาครัฐ คงจะเป็นหนึ่งในแกนหลักที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งเมื่อผนวกกับแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคเอกชนแล้ว ก็น่าจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งเพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ไม่แน่นอนในอนาคต

ธนาคารพาณิชย์ไทยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง...พร้อมรองรับความผันผวนของระบบการเงินในอนาคต หากพิจารณาผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว จะพบว่า ปัจจุบันมีสถานะที่แข็งแกร่งทั้งในมิติของความสามารถในการทำกำไร ความเข้มแข็งของเงินกองทุน ฐานะสภาพคล่องและคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเติบโตของธุรกิจหลักอย่างสินเชื่อยังไม่ได้ร้อนแรงจนเป็นประเด็นที่น่ากังวล ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา การบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ของสถาบันการเงินก็เป็นไปในลักษณะที่ระมัดระวังและมีการเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่สถาบันการเงินเหล่านั้นมีการทดสอบความแข็งแกร่ง หรือ Stress Test ในภาวะปกติและภาวะวิกฤตอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ สถาบันการเงินไทยยังมีประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปี 2551 และสามารถผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาได้โดยที่การดำเนินธุรกิจและสถานะทางการเงินไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเมื่อผนวกกับการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินไทยจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจต่างประเทศและเข้าสู่จังหวะของการลดวงเงินคุ้มครองระยะสุดท้ายไปได้อย่างราบรื่น

ลดวงเงินคุ้มครองสู่ 1 ล้านบาท: การปรับตัวของผู้ฝาก อาจทำให้การแข่งขันระดมเงินออมยังเข้มข้นต่อเนื่อง
ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ 50 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงินในปีนี้ ไปสู่การจำกัดความคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพการจัดสรรเงินออมของผู้ฝากเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์และช่องทางการออมอื่นๆ คงชัดเจนขึ้นตามลำดับ และคงจะส่งผลให้การแข่งขันระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์ไทยทวีความเข้มข้นขึ้นต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การปรับตัวของผู้ฝากเงินชัดเจนขึ้น...เพื่อรองรับการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท โดยเฉพาะผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินวงเงินคุ้มครอง แม้ในระยะที่ผ่านมา ผู้ฝากเงินไทยบางส่วนจะมีแนวโน้มกระจายเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงกระจายเงินออมไปสู่ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ทั้งกองทุนรวมและประกันชีวิตบ้างแล้ว กระนั้นก็ตาม ตั้งแต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ จนถึงช่วงลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาพการจัดสรรเงินออมของผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินวงเงินคุ้มครอง คงจะมีความเด่นชัดมากขึ้น ทั้งการกระจายเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง การย้ายเงินออมสู่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และการจัดสรรเงินออมไปสู่ช่องทางการลงทุนอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าผู้ฝากดังกล่าวอาจมีพฤติกรรมอ่อนไหวต่อผลตอบแทนมากขึ้น (Price Sensitive) ดังนั้น จึงอาจแสวงหาผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความต้องการ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ผู้ฝากเงินแต่ละรายสามารถยอมรับได้ โดยผู้ฝากที่เข้าข่ายจะถูกลดความคุ้มครองลงดังกล่าว มีจำนวนบัญชีเงินฝากถึง 9.6 แสนบัญชี วงเงินฝากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินฝากที่ได้รับผลกระทบในปีนี้ ที่มีมูลค่าเงินฝากรวม 1.74 ล้านล้านบาท หรือจำนวนบัญชีเพียง 9.5 พันบัญชี



ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจไทยสามารถรับมือกับความผันผวนจากปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศได้ตามความคาดหมายแล้ว การเคลื่อนย้ายเงินออมของผู้ฝากเงินในระยะข้างหน้า ก็คงจะเป็นไปในทิศทางที่หนุนให้บทบาทของช่องทางการออมอื่นๆ ทั้งเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กองทุนรวม ตลอดจนประกันชีวิต มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ต่อเนื่องจากภาพในปัจจุบัน ที่สัดส่วนเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เงินลงทุนในกองทุนรวมและประกันชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์มีทิศทางที่ค่อนข้างทรงตัว จนถึงชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินออมของผู้ฝากเงินในช่องทางการออมอื่นๆ รวมไปถึงการกระจายเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้น นอกเหนือจากจะขึ้นอยู่กับขนาดของเงินฝากที่เกินความคุ้มครองของผู้ออมแต่ละราย  ความเสี่ยงที่ผู้ออมยอมรับได้ ตลอดจนความต้องการใช้เงินของผู้ฝากในแต่ละช่วงเวลาแล้ว คงจะขึ้นอยู่กับการเข้าถึงช่องทางการออมอื่นๆ ที่หลากหลายในระดับที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน

ธนาคารพาณิชย์ปรับกลยุทธ์...รับมือการย้ายเงินฝาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทในปี 2555 คงจะมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาท – 50 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนบัญชีและจำนวนเงินฝากมากกว่ากลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากเกินกว่า 50 ล้านบาท (ที่เพิ่งถูกลดความคุ้มครองลงหลัง 11 สิงหาคม 2554) ถึงกว่า 100 เท่า และ 2 เท่าตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับการเคลื่อนย้ายเงินออมของผู้ฝากเงินในระยะข้างหน้าและรักษาฐานลูกค้าเงินฝากไว้กับธนาคาร นอกเหนือจากเพื่อบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ คงมีการออกผลิตภัณฑ์เงินออม ทั้งเงินฝากพิเศษและตั๋วแลกเงิน ตลอดจนผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์การออมของลูกค้าแต่ละกลุ่มในลักษณะเฉพาะเจาะจง ในจังหวะที่หนาแน่นสลับกับผ่อนเบา ตามความต้องการระดมเงินทุนของธนาคารนั้นๆ รวมถึงอาจนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาของเงินฝากและผลิตภัณฑ์เงินออมในบางช่วงเวลา ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็คงจะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ ในการที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดเงินฝากของตนไว้ ภายใต้สถานการณ์แข่งขันระดมเงินออมที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

โดยสรุปแล้ว การเปลี่ยนผ่านจากระบบคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนสู่การจำกัดวงเงินฝากเหลือ 50 ล้านบาทในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ คงเป็นไปได้อย่างราบรื่น จากภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับผู้ฝากเงินและธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับการจำกัดวงเงินคุ้มครองเงินฝากแล้วพอสมควร ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปในปี 2555 แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศแกนหลักอย่างสหรัฐฯและยุโรป รวมถึงการชะลอความร้อนแรงลงของเศรษฐกิจจีน แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีความยืดหยุ่น การประสานแรงร่วมกันของภาครัฐบาลและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนความพร้อมรับมือของธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานกำกับดูแล คงจะช่วยส่งเสริมให้จุดเปลี่ยนถัดไปสู่การคุ้มครองเงินฝากที่ลดลงมาเหลือ 1 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน เป็นไปได้อย่างราบรื่น


นอกจากนั้น ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ 50 ล้านบาท ต่อรายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงินในปีนี้ ไปสู่ความคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคม 2555 คาดว่า ภาพการจัดสรรเงินออมของผู้ฝากเงินคงมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาท – 50 ล้านบาท ทั้งการกระจายเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ และการเคลื่อนย้ายเงินออมสู่ช่องทางการออมอื่นๆ อาทิ เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ กองทุนรวมและประกันชีวิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คงจะส่งผลให้การแข่งขันระดมเงินออมของธนาคารพาณิชย์ไทยสำหรับตลาดเงินฝากที่เกินความคุ้มครองทวีความเข้มข้นมากขึ้นอีก ทั้งเพื่อรับมือกับการเคลื่อนย้ายเงินออมของผู้ฝากเงินในระยะข้างหน้าและรักษาฐานลูกค้าเงินฝากไว้กับธนาคาร รวมถึงเพื่อบริหารสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการขยายตัวของสินเชื่อและการดำเนินธุรกิจหลักของธนาคารในระยะถัดไป

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุย! จ่ายปันผล 0.20 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้