Today’s NEWS FEED

เวทีความคิด

จับตามอง High Frequency Trading … ทิศทางใหม่ในตลาดทุนเอเชีย

6,055

จับตามอง High Frequency Trading … ทิศทางใหม่ในตลาดทุนเอเชีย

By :  อัญชนี วิชยาภัย บุนนาค   research@set.or.th  

High Frequency Trading (การส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง) หรือ HFT เป็นที่สนใจมากขึ้นในตลาดทุนโลก จากเหตุการณ์  Flash Crash ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ที่ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 1,000 จุด ในเวลาไม่กี่นาที และทำให้ราคาหุ้นของบางบริษัทลดลงเหลือ 1 เพนนี หรือ สูงขึ้นถึง 100,000 ดอลลาร์สรอ. ใน     ชั่วพริบตา HFT ได้เป็นหนึ่งในจำเลยที่ได้รับการกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ผลการตรวจสอบ พบว่า HFT ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำรายการของ HFT  ในวันนั้น อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาหุ้นไม่มากก็น้อย...... ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร HFT ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่ทุกคนต้องจับตามอง ด้วยคุณสมบัติสำคัญในการสร้างสภาพคล่องและเพิ่มปริมาณการซื้อขายให้กับตลาดหลักทรัพย์  HFT จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นในเอเชีย  ซึ่งตลาดหลักทรัพย์และผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนจำเป็นต้องเตรียมรับมืออย่างเหมาะสมและสมดุล

High Frequency Trading คืออะไร
High Frequency Trading (HFT) เป็นการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง โดยใช้วิธีการส่งคำสั่งซื้อขายแบบ Algorithmic Trading หรือ Program Trading ซึ่งเป็นวิธีการส่งคำสั่งซื้อขายโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่จะใช้ความเร็วจากระบบคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล ระบุโอกาสการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที เพื่อจัดส่งคำสั่งซื้อขาย ทั้งนี้ การส่งคำสั่งแบบ HFT จะเน้นส่งคำสั่งเป็นจำนวนมากในหนึ่งวินาทีและอาจทำรายการพร้อมกันในตลาดหลักทรัพย์มากกว่าหนึ่งแห่ง เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรจากรายการดังกล่าว โดยนักลงทุนที่มีการซื้อขายแบบ HFT จะถือครองหลักทรัพย์ไว้ในเวลาที่สั้นมากและส่วนใหญ่จะไม่ถือไว้ข้ามคืน

อาจกล่าวได้ว่า HFT ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดหลักทรัพย์ ด้วยลักษณะสำคัญหลายประการด้วยกัน ดังนี้
•    ความเร็วในการทำรายการ การทำรายการของ HFT จะต้องอาศัย Ultra-low Latency โดยเน้นระบบคอมพิวเตอร์ที่รวดเร็วระดับ Millisecond (1/1,000 วินาที) หรือ Microsecond (1/1 ล้านวินาที) เท่านั้น
•    ระยะเวลาการถือครองหลักทรัพย์ นักลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายแบบ HFT จะถือครองหลักทรัพย์ไว้ในระยะเวลาสั้นมากเพียงไม่กี่นาที โดยจะไม่ถือครองหลักทรัพย์ข้ามคืน (Overnight) เนื่องจากถือเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ประเด็นนี้ทำให้ HFT แตกต่างจาก Algorithmic Trading (Algo) ซึ่งทั้งสองต่างใช้กลยุทธ์การซื้อขายด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่ Algo ครอบคลุมการถือครองหลักทรัพย์ระยะยาวด้วย อาจกล่าวได้ว่า HFT ทุกรายใช้ Algo แต่ Algo ทุกรายไม่ใช่ HFT ดังตัวอย่าง บริษัท Tradebot ซึ่งเป็นนักลงทุน HFT รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้เมื่อปี 2551 ว่า ปกติจะถือหุ้นไว้เพียง 11 วินาทีเท่านั้น

•    ปริมาณการทำรายการ HFT ทำรายการสูงสุดได้นับล้านคำสั่งซื้อขายภายในเวลาเพียงหนึ่งวินาที โดยอาจครอบคลุมหลักทรัพย์มากกว่าหนึ่งประเภท ทั้งหุ้น ออพชั่น ฟิวเจอร์ส ETFs หรือ อัตราแลกเปลี่ยน และอาจทำรายการในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ HFT ยังสามารถเปลี่ยนกลยุทธ์การซื้อขายได้ภายใน Milliseconds และสามารถยกเลิกรายการคำสั่งดังกล่าว พร้อมเปลี่ยนคำสั่งได้ใหม่ในทันที ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว นักลงทุน HFT จะยกเลิกรายการคำสั่งที่ส่งเข้ามาสูงถึง ร้อยละ 90 ของคำสั่งที่ส่งเข้ามาทั้งหมด จากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่า HFT ทำให้มีการยกเลิกรายการในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เพิ่มสูงขึ้น จากต่ำกว่าร้อยละ 10 ในปี 2545 เป็น มากกว่าร้อยละ 30 ในปี 2552

•    กำไรต่อหุ้น นักลงทุนที่ซื้อขายแบบ HFT อาศัยส่วนต่างของราคาเสนอซื้อหรือขายเพื่อทำกำไร โดยอาจได้รับกำไรต่อหุ้นเพียงเล็กน้อย บริษัทหลักทรัพย์ Rosenblatt ในสหรัฐอเมริกา ประมาณการณ์ว่า นักลงทุน HFT มีรายรับโดยเฉลี่ยเพียง 0.001 – 0.002 ดอลลาร์สรอ.ต่อหุ้น แต่จะทำรายการบ่อยครั้งและด้วยปริมาณที่สูงมาก ทำให้ได้รับผลตอบแทนในระดับสูง ในขณะที่ The TABB Group ได้ประมาณการณ์ว่า นักลงทุน HFT มีกำไรโดยรวมสูงถึง 21 พันล้านดอลลาร์สรอ. ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์และ ATS บางแห่งยังได้เสนอค่าตอบแทน (Rebate) ให้นักลงทุน HFT เพื่อตอบแทนที่สร้างปริมาณการซื้อขายหรือเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดนั้นๆ โดยในปี 2551 คาดว่านักลงทุน HFT ได้รับเงินคืนรวมกันราว 3.7 พันล้านดอลลาร์สรอ.

เป้าหมายของนักลงทุนที่ซื้อขายแบบ HFT คือ การค้นหาโอกาสในการลงทุนและการใช้ประโยชน์จากโอกาสเพื่อทำกำไร การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จะต้องมีระบบเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก ซึ่งบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ รวมถึงกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ได้ลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาลเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงดังกล่าว อย่างไรก็ดี นอกจากระบบที่มีประสิทธิภาพสูงแล้ว บริการสำคัญอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมายของ HFT มีดังนี้

Ultra-low Latency Direct Market Access (ULLDMA)    การส่งคำสั่งที่รวดเร็วตรงไปยังตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ด้วยประสิทธิภาพความเร็วสูงของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อทำรายการเร็วที่สุดใน Milliseconds หรือ Microseconds หรือเป็นในลักษณะ Sponsored Access ที่เปิดให้ส่งคำสั่งตรงเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์  โดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้จัดทำข้อตกลงกันไว้ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ตามรูปแบบการให้บริการ Sponsored Access Model ในประเทศไทยนั้น บริษัทหลักทรัพย์ไทยจะรับรู้รายการคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์พร้อมกันกับตลาดหลักทรัพย์
Co-location      การติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทหลักทรัพย์ในพื้นที่ที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดให้ เพื่อลดเวลาในการส่งข้อมูลและทำรายการให้น้อยที่สุด และได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของคิวเพื่อทำรายการ
High Speed Analytics     ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว อาทิ Complex Event Processing (CEP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการกรองข้อมูลจากเหตุการณ์จริงเพื่อระบุ แนวโน้ม ทิศทางที่น่าจะเกิดขึ้น ฯลฯ
Market Data


ระบบการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในลักษณะ Direct Feed ที่เชื่อมต่อไปยังข้อมูล Real Time ของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ทำไมนักลงทุนแบบ HFT จึงเป็นที่ต้องการของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ …
การมีนักลงทุนที่มีการซื้อขายแบบ HFT ในตลาดหลักทรัพย์ นับเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด และช่วยทำให้ส่วนต่างของราคาเสนอซื้อและเสนอขาย (Bid-Offer Spread) แคบลง อันทำให้ต้นทุนในการซื้อขายลดต่ำลง นอกจากนี้ นักลงทุนที่มีการซื้อขายแบบ HFT ยังสนับสนุนให้มีปริมาณการซื้อขายในตลาดเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังเห็นได้จากข้อมูลของ NYSE ที่พบว่า นักลงทุนแบบ HFT ช่วยให้ปริมาณการซื้อขายใน NYSE เพิ่มสูงขึ้นจาก 2 พันล้านหุ้นต่อวัน ในปี 2548 เป็น 5 พันล้านหุ้นต่อวัน ในปัจจุบัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 150  ด้วยประสิทธิภาพที่กล่าวมานี้ HFT จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันไปสู่ตลาดที่มีประสิทธิภาพต่อไป

… และมีอะไรบ้างที่เป็นข้อกังวลเกี่ยวกับนักลงทุนแบบ HFT
สิ่งที่คนส่วนใหญ่วิตกกังวลเกี่ยวกับนักลงทุนที่มีการซื้อขายแบบ HFT ก็คือ การที่นักลงทุนที่มีการซื้อขายแบบ HFT เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเข้าครอบครองส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่สูงเกินไป อาจทำให้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาโดยฉับพลันและมีผลในวงกว้าง และอาจทำให้หุ้นบางตัวเกิดความผันผวนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาวะความผันผวนดังกล่าวอาจยิ่งกระตุ้นให้นักลงทุนแบบ HFT เลือกใช้กลยุทธ์ Algo ในการทำรายการมากขึ้นด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดโดยรวมได้เช่นกัน ทั้งนี้ ความกังวลที่มีต่อ HFT อาจเกิดขึ้นได้แตกต่างกันไปตามกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน อาทิ
•    กลุ่มผู้ค้าสถาบัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทุนระยะยาว อาจมองว่าเป็นการสร้างตลาดที่ไม่เป็นธรรมและขาดความโปร่งใสอาทิ กรณีตลาดหลักทรัพย์บางแห่งเปิดให้มีการซื้อขายแบบ  Flash Trade ซึ่งเปิดให้นักลงทุนบางกลุ่มเห็นราคาเสนอซื้อหรือขายหลักทรัพย์ก่อนนักลงทุนกลุ่มอื่นในชั่วขณะหนึ่งเพื่อโอกาสในการทำกำไรได้ในชั่วพริบตา
•    นักลงทุนรายย่อย อาจเกิดความไม่มั่นใจในการซื้อขายหลักทรัพย์ของตน ซึ่งกำลังต้องแข่งขันกับระบบคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งในการทำรายการและการหาโอกาสจากการทำกำไร
•    บริษัทจดทะเบียน อาจมีความกังวลต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัทจากการเข้าซื้อขายของนักลงทุนแบบ HFT

HFT มีพัฒนาการมาอย่างไร
HFT เริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2542 อันเป็นผลจากการขยายตัวและเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Trading) และตลาดหลักทรัพย์ทางเลือก (Alternative Trading System: ATS) ที่ US SEC ได้เปิดให้มีการจัดตั้งเมื่อปี 2541 และได้มีการออกเกณฑ์ RegNMS (Regulation National Market System) ในปี 2549 ซึ่งสนับสนุนการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดทุน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ HFT แพร่หลายยิ่งขึ้น จากข้อมูลของ NYSE พบว่า ในปี 2553 HFT มีปริมาณการซื้อขายสูงถึงร้อยละ 56 ของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 เมื่อปี 2548 ดังภาพที่ 2

สำหรับในยุโรปนั้น จะเห็นได้ว่า หลังจากที่ได้ออกเกณฑ์ MiFID (Markets in Financial Instrument Directive) ในปี 2550 ซึ่งเปิดให้นักลงทุนเลือกช่องทางที่ดีที่สุดในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบการซื้อขายต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ใน รูปแบบเดิม หรือ ATS มีส่วนผลักดันให้สัดส่วนของ HFT เพิ่มสูงขึ้นมาก ดังภาพที่ 2 จะเห็นได้ว่า HFT มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี 2550 เป็น ร้อยละ 38 ในปี 2553 ทั้งนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ดังกล่าวเอื้อให้ HFT ใช้ประโยชน์จากความแตกต่างของระบบการซื้อขาย ความเร็วและค่าธรรมเนียม ในการทำรายการจากแพลทฟอร์มหนึ่งไปยังอีกแพลทฟอร์มหนึ่งในการทำกำไรได้

การเปลี่ยนแปลงด้านกฎเกณฑ์และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดทุน จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของ HFT ทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

อย่างไรก็ดี HFT ได้เข้ามาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้ จากการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ที่มีผู้ขโมยซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์สำหรับ HFT Platform ที่ถือเป็นความลับสุดยอดของ Goldman Sachs โดยในขณะนั้น มีผู้เรียกร้องให้ทางการหันมาให้ความสนใจต่อ HFT ว่าทำไมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์จึงมีความสำคัญได้ขนาดนั้น ต่อมา HFT ได้เข้ามาอยู่ในความสนใจมากขึ้น จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Flash Crash ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ซึ่งทำให้ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 1,000 จุดในชั่วพริบตา ทั้งนี้ จากรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นสถาบันการเงินของ Tabb Group ได้ชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนที่เป็น Buy Side (ด้านผู้ซื้อ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการส่งคำสั่งซื้อขาย มีทัศนคติเชิงลบต่อ HFT มากขึ้น หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ดังภาพที่ 3

HFT กับบทบาทในเอเชีย
ในขณะที่ HFT ยังเป็นข้อถกเถียงในสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความสามารถในการสร้างสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายให้กับระบบ ทำให้ HFT เป็นที่หมายปองของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิภาคเอเชียที่จะเป็นตลาดใหม่แห่งนวัตกรรมและพัฒนาการทางเทคโนโลยี ที่พร้อมจะเรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ดี นักวิชาการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เชื่อว่า พัฒนาการของ HFT ในเอเชียจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะไม่เติบโตในเวลาที่รวดเร็วนัก อย่างน้อยต้องใช้เวลาอีกราว 5 – 7 ปี เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียส่วนใหญ่ยังผูกขาดโดยตลาดหลักทรัพย์หลักของประเทศนั้นๆ และยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์ทางเลือกเข้ามาแข่งขันมากนัก อีกทั้งสัดส่วนของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุนรายย่อยมากกว่านักลงทุนสถาบัน ซึ่งต่างจากตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียยังให้ความสนใจในระดับประเทศของตนเองมากกว่าระดับภูมิภาค อีกทั้งมีข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์ค่อนข้างมาก โดยมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและยังไม่มีการพัฒนากรอบกฎเกณฑ์เพื่อใช้ร่วมกันดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้การเติบโตของ HFT ในเอเชียจะอยู่ในอัตราที่ช้ากว่า โดยปัจจุบันปริมาณการซื้อขายแบบ HFT ในเอเชีย ยังคงมีเพียงร้อยละ 5 – 10 เท่านั้น

เทคโนโลยีมีบทบาทที่สำคัญมากสำหรับการเติบโตของ HFT …
ความพร้อมทางเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของ HFT โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพและความเร็วในการทำรายการ ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้นักลงทุน HFT เข้ามาทำรายการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นๆ มากขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ระบบใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหลายแห่งจะมีเวลาในการทำรายการที่สั้นลงในระดับ Microseconds ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงความเร็วในการทำรายการของตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก
ประเทศ    ความเร็วในการทำรายการ (Latency)    กำหนดเปิดให้บริการ
เดิม    ใหม่    
ญี่ปุ่น    2 – 3 Seconds    3 – 5 Milliseconds    มกราคม 2553
สิงคโปร์    3 – 5 Milliseconds    90 Microseconds    สิงหาคม 2554
ฮ่องกง    150 Milliseconds    < 1 Millisecond    ปี 2556
ออสเตรเลีย    30 Milliseconds    300 Microseconds    ธันวาคม 2553

นอกเหนือจากความเร็วในการทำรายการ บริการอื่นๆ ทางเทคโนโลยีก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยตารางที่ 2 จะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการรองรับ HFT ของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก

ญี่ปุ่น    
ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้ใช้เงินราว 140 ล้านดอลลาร์สรอ. เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีใหม่ Arrowhead ซึ่งได้เปิดตัวเมื่อเดือนมกราคม 2553 โดยเป็นแพลทฟอร์มที่สามารถทำรายการซื้อขายได้ในเวลาเพียง 3 - 5 Milliseconds จากเดิม 2 – 3 วินาที และได้ลดเวลาในการเผยแพร่ราคาหลักทรัพย์และคำสั่งเสนอซื้อขายหลักทรัพย์เหลือเพียง 3 Milliseconds ภายหลังการเปิดตัวระบบดังกล่าว พบว่า การซื้อขายของ HFT เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 10 เมื่อปี 2552 มาเป็นร้อยละ 30 ในปี 2553 ซึ่งรายการส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Foreign Quant Funds และพอร์ตการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ Arrowhead ทำให้เกิดนวัตกรรมและเอื้อให้บริษัทของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้ามาติดตั้ง Trading Applications ที่ใกล้กับตลาดหลักทรัพย์ในโตเกียวมากขึ้นและบริษัทเหล่านี้ก็จะขยายเข้าไปใกล้กับตลาดอื่นๆ ในเอเชียมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวยังได้ดำเนินมาตรการอื่นๆ อาทิ การลด Tick Size การขยาย Daily Price Limit เพื่อให้ราคาของหลักทรัพย์ขึ้น/ลงได้มากขึ้นในแต่ละวันเพื่อให้มีโอกาสในการทำกำไรมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการเข้ามาของ HFT

สิงคโปร์    
ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์มีแผนที่จะเปิดตัว SGX Reach ระบบใหม่ที่เร็วที่สุดในโลกภายในเดือนสิงหาคม  2554 โดยสามารถทำรายการซื้อขายได้ในเวลาเพียง 90 Microseconds เท่านั้น จากปัจจุบันที่ใช้เวลาราว 3 – 5 Milliseconds  ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ใช้เงินลงทุนกว่า 250 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 184 ล้านดอลลาร์สรอ.) เพื่อพัฒนาระบบใหม่ดังกล่าว ซึ่งมี NASDAQ OMX’s Genium INET ร่วมกับ Voltaire และ HP เป็นผู้พัฒนาระบบให้ เพื่อให้บริการทั้งระบบข้อมูล (Market Data) ระบบการชำระราคา และ Co-location ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน HFT มีการซื้อขายอนุพันธ์ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ประมาณร้อยละ 30 จากเดิมร้อยละ 10 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในด้านหลักทรัพย์ HFT มีการซื้อขายอยู่ร้อยละ 5 เท่านั้น นอกจากการพัฒนาระบบข้างต้น ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ยังมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในนครนิวยอร์ก นครชิคาโก และกรุงลอนดอน เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมต่อระบบให้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งได้จัดตั้ง Chi East เพื่อให้บริการระบบการซื้อขายหลักทรัพย์แบบไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ หรือ Dark Pool เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553

ฮ่องกง     
ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมีแผนที่จะพัฒนาระบบใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจและการพัฒนาตลาดในระยะยาว คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ภายในกลางปี 2556 โดยมีวงเงินงบประมาณราว 700 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 90 ล้านดอลลาร์สรอ.) ทั้งนี้ ระบบใหม่จะสามารถทำรายการได้มากขึ้นจากปัจจุบันที่ 3,000 รายการต่อวินาที เป็น 30,000 รายการต่อวินาที ในปี 2554 และมากกว่า 100,000 รายการต่อวินาที ในปี 2556 สำหรับเวลาที่ใช้ในการทำรายการซื้อขายนั้น มีแผนที่จะลดลงจาก 150 Milliseconds ในปัจจุบัน เหลือเพียง 9 Milliseconds ภายในปี 2554 และน้อยกว่า 1 Millisecond ภายในปี 2556 อนึ่งปัจจุบันมีระบบการซื้อขายแบบไม่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ หรือ Dark Pool ให้บริการอยู่ในฮ่องกงประมาณ 10 ราย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ร้อยละ 3 ของการซื้อขายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายของฮ่องกง ได้ห้ามไม่ให้ระบบการซื้อขายทางเลือกซื้อขายหุ้นจดทะเบียนของฮ่องกง ยกเว้นจะดำเนินการผ่านบริการ Automated Trading Service (ATS) ของตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยผู้ใช้บริการจะต้องรายงานและชำระราคารายการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงด้วย

ออสเตรเลีย
ตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบใหม่ที่จะลดเวลาการทำรายการเหลือเพียง 250 Microseconds จากปัจจุบันที่ใช้เวลาในการทำรายการ 2 – 3 Milliseconds โดยมี NASDAQ OMX’s Genium INET เป็นผู้พัฒนาระบบให้ ระบบดังกล่าวจะสามารถทำรายการได้มากกว่า 5 ล้านรายการต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านรายการต่อวัน

อินเดีย    
ตลาดหลักทรัพย์ในอินเดียเน้นการพัฒนา Low Latency Capabilities โดยได้เปิดให้มี Co-location ทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติอินเดีย (National Stock Exchange: NSE) และตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์ (Bombay Stock Exchange: BSE) โดย NSE ได้เปิดตัวบริการ Co-location สำหรับ 50 บริษัท เมื่อต้นปี 2553 ซึ่งได้รับความสนใจจากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Deutsche Bank, Citi, Morgan Stanley, Goldman Sachs, MF Global ทำให้สามารถจัดสรรพื้นที่ได้หมดภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่ BSE ได้ร่วมมือกับ NYSE Technologies เพื่อปรับระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ตอบสนองต่อความต้องการความเร็วในการซื้อขาย การลดเวลาเชื่อมต่อข้อมูล  Co-location และบริการอื่นๆ ทั้งนี้ บริการ Co-location ของ BSE คิดอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่า NSE และเปิดให้สมาชิกทำรายการซื้อขายในตลาดอื่นๆ นอกเหนือจาก BSE ได้ด้วย สมาชิกสามารถ Update ข้อมูลราคาได้ทุก 3 – 4 Milliseconds จากเดิม 30 - 40 Milliseconds

… แต่กรอบกฎเกณฑ์มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงเพื่อรองรับ HFT แล้วนั้น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ อาทิ ขนาดและสภาพคล่องของตลาด ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ เป็นอีกองค์ประกอบในการสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดนั้นๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการที่ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถมองข้ามได้ ก็คือ การพัฒนากรอบกฎเกณฑ์ที่สอดคล้อง โดยเน้นที่การสร้างความโปร่งใสเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงกรอบกฎเกณฑ์ในลักษณะเดียวกันกับ MiFID ในยุโรปถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเอเชีย เพื่อที่จะเปลี่ยนการวิธีการทำงานของตลาด และลดปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ ดังนั้น บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศถือว่ามีความสำคัญมาก หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในตลาดทุนและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและเปิดให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการวางแผนป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นไว้เป็นอย่างดี ซึ่ง US SEC ได้ให้คำแนะนำการสร้างตลาดที่เอื้อต่อ HFT ไว้ อาทิ

•    มีการพัฒนาเกณฑ์ที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของ HFT ไว้อย่างชัดเจน อาทิ การควบคุมให้มีการส่งคำสั่งเสนอซื้อหรือขายหลักทรัพย์อย่างเหมาะสม ข้อจำกัดด้านจำนวนในการยกเลิกรายการ เป็นต้น
•    ความโปร่งใสในการเปิดเผยและรายงานข้อมูลหลังการซื้อขายเป็นสิ่งที่สำคัญ
•    มีการควบคุมความเสี่ยงอย่างเข้มงวด
•    ในกรณีที่เปิดให้บริการ Co-location ควรคำนึงถึงความโปร่งใสในการให้บริการ

ในด้านโครงสร้างกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวเป็นแห่งหนึ่งที่มีการวางโครงสร้างไว้อย่างดี โดยนักลงทุนไม่ต้องพบปัญหาทั้งในเรื่องภาษีอากรแสตมป์และข้อจำกัดเรื่องสกุลเงิน ขณะที่บางประเทศยังมีปัญหา อาทิ ฮ่องกงที่มีปัญหาเรื่องภาษีอากรแสตมป์ ออสเตรเลียที่มีการคิดภาษีจากค่าธรรมเนียมของตลาดหลักทรัพย์ (Tax on Exchange Fees) เป็นต้น

นอกเหนือจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บราซิลเป็นอีกประเทศหนึ่งในกลุ่มตลาดกำลังพัฒนาที่ได้วางโครงสร้างที่ดีที่สุดสำหรับ HFT ในภูมิภาคละตินอเมริกา โดยนอกจากปรับปรุงความเร็วในการทำรายการ พร้อมเปิดให้บริการ Direct Market Access (DMA), Sponsored Access และ Co-location เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ HFT แล้ว บราซิลยังได้ผ่อนคลายเกณฑ์เพื่อกระตุ้นการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย นอกจากนี้ ยังเด่นด้านความหลากหลายของประเภทสินค้า ไม่ว่าจะเป็น Index Offerings, Futures, Single Stock Futures ฯลฯ ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้บราซิลเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจมากที่สุดในโลกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาสำหรับ HFT และ Algo

High Frequency Trading ในประเทศไทย
ปัจจุบันเรียกได้ว่ายังไม่มีรูปแบบการซื้อขายแบบ HFT เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุด คือ Algorithmic Trading ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ใช้มาตั้งแต่ปี 2549 แต่การใช้งานยังไม่แพร่หลายมากนัก  ปัจจุบันจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยที่ให้บริการ Algorithmic Trading มี 9 ราย ด้วยสัดส่วนการซื้อขายเฉลี่ยในไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.20 ของมูลค่าการซื้อขายรวม จากเดิมในช่วงเดือนสิงหาคม 2550 ถึง สิงหาคม 2551 มีเพียง 2 ราย ด้วยสัดส่วนการซื้อขายเฉลี่ยร้อยละ 0.74 ของมูลค่าการซื้อขายรวม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบงานหลักใหม่ตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Master Plan) เพื่อยกระดับระบบเทคโนโลยีสู่มาตรฐานสากลและรองรับบริบทการแข่งขันที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ที่มาพร้อมกับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายและความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีมากขึ้น ระบบใหม่ดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นในด้านเวลาการทำรายการ การบริหารความเสี่ยง การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และการเชื่อมต่อกับเครือข่ายในระดับโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และลดต้นการดำเนินงานโดยรวมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คาดว่าจะพัฒนาระบบใหม่แล้วเสร็จในปี 2556
การพัฒนาความเร็วในการทำรายการที่ทัดเทียมตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาระบบใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กล่าวข้างต้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการเพิ่มการซื้อขายของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงนักลงทุนแบบ HFT ในประเทศไทยด้วย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมความพร้อม โดยจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการกำกับดูแลการซื้อขายและระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การเตรียมการเพื่อรองรับ HFT ในประเทศไทย
การที่ HFT จะเข้าซื้อขายในประเทศใด ความคุ้นเคยกับสภาวะแวดล้อม พร้อมด้วยกฎเกณฑ์และต้นทุนการดำเนินการในประเทศนั้น ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนั้น ในการเตรียมการเพื่อรองรับ HFT ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเทศไทยนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างกรอบกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม และการเตรียมความพร้อมของสมาชิกและผู้ร่วมตลาด

โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี
•    ตลาดหลักทรัพย์ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยต้องเป็นตลาดที่มีเทคโนโลยีความเร็วในระดับ Milliseconds/Microseconds และมี Low Latency Infrastructure เพื่อรองรับ HFT อย่างไรก็ดี นอกจาก Low Latency แล้ว Stable Latency หรือความเสถียรของเวลาในการทำรายการเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรต้องคำนึงถึง นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญต่อระยะเวลาในการพัฒนาหรือปรับปรุงระบบใหม่ และควรปรับปรุงเครือข่ายและฮาร์ดแวร์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถทำงานได้ตามความต้องการของ HFT
•    ความง่ายในการเข้าถึงตลาด ระบบของ HFT ต้องการอยู่ใกล้ระบบของตลาดหลักทรัพย์ให้มากที่สุด ดังนั้น บริการ Co-location ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญมากเพื่อให้สามารถเข้าถึงระบบของตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างรวดเร็ว (Low Latency Access) ตลอดจนการเปิดให้ลูกค้าสามารถทำรายการตรงเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะของ Direct Market Access หรือ Sponsored Access ด้วย
•    ระบบเปิดเผยข้อมูลที่มีความพร้อม การให้บริการด้านข้อมูลที่ครอบคลุมและรวดเร็วในลักษณะ Direct Feed เป็นอีกบริการที่ตลาดหลักทรัพย์ควรคำนึงถึง
•    ระบบบริหารความเสี่ยงและระบบการกำกับดูแลการซื้อขายที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการ Manipulate ตลาด

โครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจ
•    นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ตลาดมีความน่าสนใจในสายตาของ HFT คือ ตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเพียงพอ หลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และ Turnover Velocity หรือความคล่องตัวในการซื้อขายเปลี่ยนมือ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มี Turnover Velocity ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

•    ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานกำกับดูแล ควรคำนึงถึงการปรับกฎเกณฑ์ใหม่ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการกระตุ้นการเติบโตของการซื้อขายแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์ อาทิ Sponsored Access ฯลฯ นอกจากนี้ ควรพิจารณานโยบายที่สอดคล้องเพื่อดึงดูดและกระตุ้นให้ HFT เข้ามาทำรายการในตลาดทุนไทย อาทิ ผลตอบแทนในการสร้างสภาพคล่อง ฯลฯ

•    การพิจารณามาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ HFT กลายมาเป็นกลยุทธ์ที่ครอบงำตลาด เพราะอาจเป็นสัญญาณที่จะเกิดความผันผวนอย่างมากขึ้นได้ โดยควรออกเกณฑ์การกำกับดูแล HFT ที่เหมาะสมและรัดกุม พร้อมจัดทำคำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับ HFT เพื่อควบคุมพฤติกรรมการทำรายการของ HFT ให้เป็นไปอย่างสมดุล
•    การจัดเตรียมมาตรการเพื่อรองรับปริมาณการซื้อขายที่จะเพิ่มมากขึ้น พร้อมด้วยเกณฑ์การกำกับดูแลการซื้อขายและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระบบในการควบคุมความเสี่ยงก่อนทำรายการซื้อขาย (Pre-execution Check) ดังที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ประกาศที่จะเปิดตัวระบบดังกล่าวสำหรับตรวจสอบโอกาสเกิดความเสี่ยงจากการซื้อขายในรูปแบบ Direct Market Access ในไตรมาส 3 ปี 2554  
•    เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้านภาษี อาทิ ภาษีอากรแสตมป์เป็นอีก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้